ก.อุตฯ ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการจุดฉีดวัคซีน เตรียมถกด่วนนัดแรกวันนี้ “วีริศ” สั่งสำรวจพื้นที่นิคมฯทั่วปท.ทำศูนย์กลางฉีดวัคซีน

ก.อุตฯ ตั้งคณะทำงานบริหารจัดการจุดฉีดวัคซีน เตรียมถกนัดแรกวันนี้ “วีริศ” สั่งสำรวจพื้นที่นิคมฯ ทั่วปท.ตั้งศูนย์ฉีด

อัปเดตล่าสุด 17 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 346 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าจัดจุดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป หารือนัดแรกในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ ด้านผู้ว่าการ กนอ.สั่งการทุกนิคมอุตสาหกรรมสำรวจพื้นที่ จัดตั้งศูนย์กลางฉีดวัคซีนฯ สนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาลในการฉีดวัคซีนให้ได้ 5 แสนคนต่อวัน!

Advertisement

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้ว่าการ กนอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนัดแรกในวันที่ 17 พ.ค.2564 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แก่ประชาชนทั่วประเทศตามความสมัครใจ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ประกอบด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการ, นายเดชา จาตุธนานันท์ หัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตฯ เป็นรองประธาน, นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.เป็นรองประธาน, โดยมีกรรมการ ประกอบด้วย นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ประธาน ส.อ.ท. หรือตัวแทน, ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน, ผู้อำนวยการกองกลาง และผู้อำนวยการกองตรวจราชการ เป็นต้น โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ 1.กำหนดแนวทางพื้นที่จุดบริการและเตรียมความพร้อมการให้วัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม และประชาชน 2.ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การบริการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ 3. ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งมีทั้งในส่วนที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน รวมทั่วประเทศ 59 นิคมฯ แต่จะต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวันจะได้ประมาณกี่ราย โดยคิดจากอัตราส่วนต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อประเมินความพร้อมของสถานที่ ไม่ให้เกิดความแออัด ขณะเดียวกันต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ดำเนินการได้ทันท่วงที

“เบื้องต้นในที่ประชุมได้หารือว่าจะแบ่งกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 2.โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 3.ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง ขณะเดียวกันได้มีการประสานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อหารือถึงการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งวางแนวทางการฉีดวัคซีนในแต่ละวันเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้รับเรื่องไปพิจารณาและจะประสานข้อมูลในเชิงลึกร่วมกับ กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด”ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว