เอฟทีเอ อาเซียน จีน เกาหลีใต้ อินเดีย 2564

เตรียมระดมความเห็น อัปเกรด FTA 3 ฉบับ อาเซียนทำกับ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย

อัปเดตล่าสุด 13 ก.ค. 2564
  • Share :

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมเชิญรัฐและเอกชนระดมความคิดเห็นการยกระดับเอฟทีเอ 3 ฉบับที่อาเซียนทำกับจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ให้มีความทันสมัยและให้ประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมเชิญภาครัฐและภาคเอกชนร่วมประชุมหารือ เรื่องการยกระดับและทบทวนความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อาเซียนทำกับจีน (ACFTA) เกาหลีใต้ (AKFTA) และอินเดีย (AIFTA) ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ เพื่อยกระดับ FTA ทั้ง 3 ฉบับ ให้สอดรับกับพัฒนาการทางการค้าโลก และเป็นประโยชน์ต่อไทยมากที่สุด โดยตั้งเป้าเจรจาเปิดตลาดเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าที่ทั้ง 3 ประเทศยังไม่ได้ลดภาษีนำเข้าให้ไทย พร้อมทั้งมีแผนจะจัดสัมมนา เรื่องประโยชน์และผลกระทบต่อไทยที่เกิดจาก FTA ทั้ง 3 ฉบับ นับตั้งแต่มีผลบังคับใช้ ในโอกาสต่อไป

FTA อาเซียน – จีน (ACFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งอาเซียนกับจีนได้ตกลงที่จะยกระดับ FTA ใน 2 ส่วน คือ เปิดตลาดเพิ่มเติมในสินค้าที่ยังมิได้ลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% และเปิดเสรีเรื่องการลงทุน โดยจีนยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ส่งออกจากไทย จำนวน 432 รายการ (5.2% ของรายการสินค้าทั้งหมด) อาทิ รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ กระดาษ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลทราย และลำไยกระป๋อง ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการร่วมกำกับการดำเนินงานภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ปลายเดือนกรกฎาคมนี้

FTA อาเซียน - เกาหลีใต้  (AKFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะยกระดับ FTA ใน 2 ส่วน คือ เปิดตลาดเพิ่มเติมสำหรับสินค้าที่ยังมิได้ลดภาษีนำเข้าลงเหลือ 0% และเจรจาปรับปรุงข้อบทอื่นๆ รวมถึงเรื่องการลงทุน โดยเกาหลีใต้ยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ส่งออกจากไทย จำนวน 1,257 รายการ (10% ของรายการสินค้าทั้งหมด) อาทิ ไก่และกุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป มะม่วง ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง น้ำมันรำข้าว เคมีภัณฑ์ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ ในเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกัน

FTA อาเซียน – อินเดีย (AIFTA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2553 โดยทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างสรุปขอบเขตการทบทวน FTA ซึ่งจะประกอบด้วย เรื่อง การลดและยกเลิกภาษีนำเข้า มาตรการที่มิใช่ภาษี กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – อินเดีย ในเดือนกันยายนนี้ เพื่อพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการร่วมและเริ่มการเจรจาทบทวนความตกลง AITIGA ต่อไป ทั้งนี้ อินเดียยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าส่งออกจากไทย จำนวน 1,079 รายการ (20.97% ของรายการสินค้าทั้งหมด) อาทิ ปูนซีเมนต์ เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องแปลงไฟฟ้าชนิดคงที่ เครื่องนุ่งห่ม และลวดทองแดง

ทั้งนี้ นับจากที่ความตกลง FTA ทั้ง 3 ฉบับมีผลบังคับใช้ ทำให้การค้าระหว่างไทยกับจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ขยายตัว 45 – 420% และมีการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกจาก FTA ทั้ง 3 ฉบับ คือ ACFTA ใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสูงถึง 90% อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ รถยนต์และยานยนต์ขนส่งส่วนบุคคล สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง และผลไม้สด AKFTA ใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออก 70.74% อาทิ เครื่องซักผ้า ยางนอกชนิดอัดลม แผ่นไม้อัด และพาร์ติเคิลบอร์ด และ AIFTA ใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออก 65.23% อาทิ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักรกล

 

#FTA #ความตกลง FTA #FTA อาเซียน-จีน #FTA อาเซียน-เกาหลีใต้ #FTA อาเซียน-อินเดีย #AKFTA #ACFTA #AIFTA #เอฟทีเอ #ส่งออกไทย #กรมเจรจาฯ #กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ #กระทรวงพาณิชย์

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH