รมว.อุตฯ นำ MIND หารือ METI ย้ำสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น หุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้าน
รมว.อุตสาหกรรม หารือร่วมรัฐมนตรี METI ย้ำความสัมพันธ์แน่นแฟ้นเชิงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้าน
เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (MIND) เปิดเผยถึงผลการหารือกับนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ (Mr.Nishimura Yasutosh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ระหว่างเยือนประเทศญี่ปุ่น วันที่ 11-15 มกราคม 2566 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ ว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจร่วมกันมาอย่างยาวนานในหลายด้าน โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่นักลงทุนญี่ปุ่นได้มาลงทุนในประเทศไทย โดยการเข้าหารือกับ METI ยังเป็นการครบรอบ 1 ปี ที่ทั้ง 2 กระทรวงฯ คือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) และกระทรวงอุตสาหกรรม (MIND) ได้ร่วมกันปรับแนวคิดจาก “Connected Industries” มาสู่ความร่วมมือ Co-Creation for Innovative and Sustainable Growth ที่เน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เมื่อปลายปี 2565
โดยเฉพาะประเด็นการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะบุคลากร ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือ Cooperation Framework on Human Resource Development for Realizing Industry 4.0 ขับเคลื่อน 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1. แนวทางการร่วมกันพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรม 2. การขับเคลื่อนนโยบาย BCG ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3.การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่อุปทานผ่านแนวคิดการร่วมสร้าง (Co-Creation)
- ก.อุตฯ ผนึก เมติ ดึงนักลงทุนข้ามชาติ ยกระดับ SME ปั้นบุคลากรเทคโนโลยีดิจิทัล
- อุตฯ จับมือ เมติฯ ดันเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอัจฉริยะใช้กำกับโรงงานเสี่ยง
- ก.อุตฯ ปลื้ม! "ไดกิ้น” พร้อมใช้ไทยเป็น “ฮับอาเซียน" โชว์ศักยภาพ “นิคมสมาร์ทปาร์ค-ท่าเรือฯ มาบตาพุด"
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังหารือในประเด็นการลงทุนภายใต้กรอบ AJIF (Asia-Japan Investing for the Future) มุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศต่าง ๆ จึงเน้นย้ำถึงความพร้อมของประเทศไทยในการต้อนรับนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่กำกับดูแลโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล รวมทั้งสิ้น 67 แห่ง ใน 16 จังหวัด พื้นที่รวมเกือบ 2 แสนไร่ (ประมาณ 320 ตารางกิโลเมตร) เป็นนิคมฯ ที่ทันสมัย และมีเงินลงทุนสะสมรวมกว่า 150,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 1 ล้านราย โดยได้เชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เพราะเป็นการลงทุนด้วยการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Total Solution Center : TSC) ที่จะคอยให้บริการและดูแลนักลงทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ
โดยปัจจุบัน กนอ. อยู่ระหว่างการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในพื้นที่จังหวัดระยอง มีพื้นที่ประมาณ 1,400 ไร่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม New S-Curve ในพื้นที่ EEC ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เป็นต้น ปัจจุบันก่อสร้างแล้วประมาณ 40% และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567 รวมทั้ง กนอ. ยังสนับสนุนการใช้พลังงานไฮโดรเจนในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park นอกจากนี้ยังเชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่นลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ซึ่งเป็นการลงทุนบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อใช้เป็นท่าเรือสินค้าเหลว รวมทั้งคลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
"การประชุมหารือร่วมกับ METI ผมย้ำถึงการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) อย่างรอบด้านกับญี่ปุ่น และหารือแนวทางการพัฒนาความสัมพันธ์ในมิติ เศรษฐกิจที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในระดับทวิภาคี อนุภูมิภาคและภูมิภาค สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่าย” นายสุริยะ กล่าว
ด้าน นายนิชิมุระ กล่าวว่า ในส่วนของ METI ให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับ MIND ในอนาคต 2 แนวทาง คือ 1. การทำให้โซ่อุปทานเข้มแข็ง และ 2. การพัฒนาธุรกิจ Startup โดยมุ่งเน้นความร่วมมือ 3 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนาระบบความปลอดภัยอัจฉริยะ 2. การใช้ประโยชน์จากพลังงานไฮโดรเจน และ 3. การพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับนโยบาย Industry 4.0 ร่วมกัน
ทั้งนี้ ในการประชุมหารือนายนิชิมุระ ยาสึโทชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น มีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมมอุตสาหกรรม นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมด้วย
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH