บีโอไอ โรดโชว์เกาหลี ดึงกลุ่ม EV-ชิป-การแพทย์ ลงทุน 'คลื่นลูกที่สาม' ในไทย
บีโอไอรุกจัดงานสัมมนาการลงทุนที่เกาหลีใต้ ตอกย้ำศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจในไทย พร้อมจับมือ กนอ. และเอกชนยักษ์ใหญ่ไทย ร่วมดึงการลงทุนเกาหลี สร้างคลื่นการลงทุนลูกที่สามในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอีวี เซมิคอนดัคเตอร์ การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นักธุรกิจชั้นนำของเกาหลีตบเท้าเข้าร่วมงานกว่า 180 คน
วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอได้เดินทางจัดสัมมนาการลงทุนในหัวข้อ “Thailand Investment Promotion Strategy: NEW Economy, NEW Opportunities” ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2566 โดยมีพันธมิตรทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัทชั้นนำของไทย ทั้งกลุ่ม ปตท. และเครือซีพี เข้าร่วมบรรยายให้ข้อมูลการลงทุนและโอกาสในการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทย - เกาหลี รวมถึงเปิดการเจรจาธุรกิจและให้คำปรึกษาด้านการลงทุนเป็นรายบริษัท โดยมีนักลงทุนเข้าร่วมสัมมนามากกว่า 180 คน
“ปัจจุบันมีบริษัทเกาหลีมากกว่า 400 ราย ที่เข้ามาลงทุนในไทยและประสบความสำเร็จอย่างดี โดยบริษัทรายใหญ่หรือกลุ่มแชโบล เช่น ซัมซุง แอลจี พอสโก ฮันวา และฮันซอล ถือเป็นคลื่นการลงทุนลูกแรกจากเกาหลีที่เข้ามาไทยเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว และได้ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หลังจากกลุ่มนี้เข้ามาตั้งฐานได้มั่นคงแล้ว ก็ได้เริ่มนำกลุ่ม Supplier และพันธมิตรทางธุรกิจ ตามเข้ามาลงทุนเป็นคลื่นลูกที่สอง ทำให้ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจากเกาหลีเข้ามาอย่างต่อเนื่องปีละเฉลี่ย 30 โครงการ เงินลงทุนราว 5 พันล้านบาทต่อปี แต่จากนี้ไป จะเป็นช่วงเวลาสำคัญของโลกยุคหลังโควิดที่มีความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะสงครามการค้าและความขัดแย้งระหว่างประเทศ จะเป็นโอกาสที่ไทยและเกาหลีจะร่วมกันสร้างคลื่นลูกที่สามของการลงทุนเกาหลีในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่ทั้งสองประเทศมีความสนใจร่วมกัน และเกาหลีมีความเชี่ยวชาญ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดัคเตอร์ ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาเกมและระบบอัจฉริยะใน Smart City รวมทั้งอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น กรณีที่เครือซีพี ได้จับมือกับบริษัทเกาหลีหลายราย ทั้งกลุ่ม SM Entertainment, CJ Entertainment และล่าสุดคือ The Black Label ซึ่งอุตสาหกรรมเป้าหมายสาขาต่าง ๆ นี้ เป็นที่สนใจของนักลงทุนเกาหลีอย่างมาก และยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอก็จะช่วยสนับสนุนให้เกิดคลื่นการลงทุนลูกที่สามจากเกาหลีได้ด้วย” นายนฤตม์ กล่าว
- 'ฉางอัน ออโตโมบิล' ประกาศลงทุน 9,800 ล้าน ตั้งโรงงานผลิต EV แสนคันในไทย
- ผู้ผลิตยานยนต์ “ลดต้นทุนอีวี” อย่างไร?
- ลงทุนเครื่องจักรผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ ปี 2022 โตต่อเนื่องปีที่สาม
ในการจัดงานสัมมนาดังกล่าว บีโอไอได้ชี้ให้นักลงทุนเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ทั้งในแง่ที่ตั้งซึ่งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค มีระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งมีบริษัทเกาหลีตั้งอยู่จำนวนมาก อีกทั้งมีซัพพลายเชนที่ครบวงจร มีมาตรการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์จากรัฐบาล มีขีดความสามารถในการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรมเพื่อช่วยให้บริษัทชั้นนำของเกาหลีสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตั้งไว้ได้ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ที่ประเทศไทยเข้าร่วม ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถเป็นสะพานเชื่อมนักลงทุนเกาหลีกับภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดี
“นอกจากดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว บีโอไอยังชี้ให้บริษัทเกาหลีโดยเฉพาะกลุ่มที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้ว มองเห็นโอกาสและข้อได้เปรียบในการเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarter) และศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยด้วย โดยไทยมีมาตรการเตรียมพร้อมบุคลากรเพื่อรองรับธุรกิจทั้งสองสาขานี้ ซึ่งจะช่วยทำให้ฐานธุรกิจของเกาหลีในไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความมั่นคงในระยะยาว” นายนฤตม์ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ในงานดังกล่าว ยังมีการบรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและเกาหลีในมิติต่าง ๆ โดย นายวิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล อีกทั้งมีการบรรยายถึงความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมในการรองรับการลงทุน โดย นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. และการบรรยายเกี่ยวกับโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทย - เกาหลี โดยผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำของไทยและเกาหลี ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) บริษัท โมนามิ ผู้ผลิตเครื่องเขียนชั้นนำจากเกาหลี และสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเกาหลี ซึ่งผู้แทนภาคเอกชนต่างได้ชี้ให้เห็นถึงความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในการลงทุนของประเทศไทย และโอกาสการร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ ดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นต้น
“อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ทั้งต่อการตอบโจทย์เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยแล้วอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการเติบโตสูงถึงกว่าร้อยละ 30 - 40 ต่อปี แสดงถึงศักยภาพที่มีสูงมาก ทั้งเกาหลีใต้และไทยต่างได้ตั้งเป้าหมายอีวีที่ชัดเจน โดยเกาหลีใต้ได้ตั้งเป้าให้บริษัทเกาหลีผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 3.3 ล้านคันภายในปี 2030 ขณะที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 ดังนั้น เกาหลีใต้และไทยในฐานะผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 5 และ 10 ของโลกตามลำดับ จึงควรร่วมมือกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและระบบนิเวศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของทั้งสองประเทศ” นายปาร์ค แจฮอง ประธานสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าของเกาหลี กล่าวในงานสัมมนา
ทั้งนี้ การจัดสัมมนาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 15 – 18 พฤษภาคม 2566 โดยบีโอไอจะเข้าพบกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายสำคัญ และผู้ผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำแบบครบวงจร เพื่อหารือถึงโอกาสและแผนการลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งจัดประชุมโต๊ะกลมกับสมาชิกของสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของเกาหลี ทั้งผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญ ผู้พัฒนาระบบจัดการแบตเตอรี่ และผู้ให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH