วว. ผนึกพันธมิตร เตรียมสร้างศูนย์ต้นแบบคัดแยก-แปรรูปวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูง แห่งแรกของไทย
วว. ผนึกกำลัง Dow สถาบันพลาสติก และอำเภอบ้านฉาง จ.ระยอง ชูนวัตกรรมแก้ปัญหาขยะชุมชน สร้างศูนย์ต้นแบบคัดแยก/แปรรูปวัสดุรีไซเคิลคุณภาพสูง แห่งแรกของไทย
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผนึกกำลังพันธมิตรจังหวัดระยอง ได้แก่ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) และสถาบันพลาสติก นำนวัตกรรมแก้ปัญหาขยะชุมชน สร้างศูนย์ต้นแบบคัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิล (Material Recovery Facility : MRF) คุณภาพสูงแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยงบสนับสนุนกว่า 20 ล้านบาท ตั้งเป้าช่วยนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้ประมาณปีละ 1,000 - 2,000 ตัน มุ่งส่งเสริมการคัดแยกและยกระดับคุณภาพขยะ พร้อมขยายผลเป็นศูนย์ต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ของประเทศต่อไป
นายสุพจน์ ต่ออาจหาญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า การที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ผลิต ห้างร้าน ผู้บริโภค และสิ่งสำคัญที่สุดในฐานะผู้บริโภค คือ การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่ครัวเรือนในชุมชน เพื่อให้ขยะแต่ละชนิดสามารถนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ในฐานะผู้แทนจังหวัดระยอง ขอขอบคุณ วว. Dow สถาบันพลาสติก และอำเภอบ้านฉาง รวมถึงทุกคนที่ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในครั้งนี้ มั่นใจว่าจังหวัดระยองของเรามีศักยภาพและมีความพร้อมที่จะผนึกกำลัง ในการสร้างและยกระดับให้บ้านของพวกเราเป็นต้นแบบการจัดการขยะที่ยั่งยืนต่อไป
- ก.อุตฯ ต่อมาตรการ Green Tax Expense ลดหย่อนภาษี "พลาสติกที่ย่อยสลายได้" 1.25 เท่า ในปี 2565-2567
- พลาสติกจากพืช คุณสมบัติใกล้เคียง PET
- วว. โชว์โซลูชันแยกกระดาษ - พลาสติกพอลิเอทิลีน ออกจากอะลูมิเนียมฟอยล์ ช่วยลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) และ Dow ได้ร่วมดำเนินงานโครงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำสู่การพัฒนาคุณภาพขยะพลาสติกในชุมชนอย่างยั่งยืน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จวบปัจจุบัน ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการขยายผลในการบูรณาการองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญขององค์กรพันธมิตร และส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดตั้งศูนย์ต้นแบบคัดแยกและแปรรูปวัสดุรีไซเคิล (Material Recovery Facility: MRF) คุณภาพสูงแห่งแรกของประเทศไทย ที่อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และกองทุน Dow Business Impact Fund จากบริษัท ดาว ประเทศไทย เพื่อบริหารจัดการขยะชุมชน บรรจุภัณฑ์พลาสติก และของเหลือทิ้งในชุมชนแบบครบวงจรและยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่มต่อการจัดการขยะ ยกระดับคุณภาพของวัตถุดิบรอบสองตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน พัฒนาผลิตภัณฑ์จากขยะชุมชนและของเหลือทิ้งในพื้นที่อำเภอบ้านฉาง รวมถึงจัดการน้ำเสียและการผลิตพลังงานทดแทนชีวภาพ เมื่อดำเนินการสำเร็จจะนำรายได้เสริมมาสู่ชุมชน และช่วยลดปริมาณขยะในสิ่งแวดล้อม
“...วว. มุ่งเน้นการจัดการวัสดุรีไซเคิลที่ต้นทาง เพื่อสร้างโอกาสในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างอาชีพ ขยายผลความสำเร็จสู่ภาคเอกชน ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG Economy เชื่อมั่นว่าความร่วมมือเชิงบูรณาการของ วว. และพันธมิตรในครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งในการนำผลงานวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การสร้างต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมจากงานวิจัยสู่การประยุกต์ใช้งานจริง ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เกิดการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนและเป็นรากฐานที่เข้มแข็งในการพัฒนาประเทศต่อไป...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นายกิติพงศ์ อุระวัตร นายอำเภอบ้านฉาง กล่าวว่า ในนามของชาวบ้านฉางและในฐานะคณะทำงาน เรายินดีให้การสนับสนุนโครงการฯ เพื่อผนึกกำลังสร้างชุมชนต้นแบบจัดการขยะยั่งยืน ทำให้เกิดระบบการบริหารจัดการขยะภายในอำเภอ เสริมความรู้ สร้างความตระหนักและความร่วมมือในการเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนในชุมชน ส่งเสริมให้มีระบบการจัดการขยะและคัดแยกที่ดี เพื่อเพิ่มอัตราการรีไซเคิลให้สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้านการแก้ไขปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อม
ขณะที่ นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงการสนับสนุนการจัดกิจกรรมว่า ในสถานการณ์ที่โลกมีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด แต่มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน จะต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาประยุกต์ รวมทั้งต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีค่าได้เกิดประโยชน์สูงสุด และใช้ซ้ำได้เป็นวงจรไม่รู้จบ โดยเฉพาะพลาสติกใช้แล้ว การดำเนินโครงการนี้สอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ Dow ที่จะ ‘หยุดขยะพลาสติก’ โดยเราตั้งเป้าจะผลักดันให้พลาสติกใช้แล้วจำนวน 1 ล้านตันจากทั่วโลก ถูกเก็บกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิล ทั้งผ่านกิจกรรมที่ Dow ดำเนินการเอง และโครงการความร่วมมือต่างๆ
ด้าน นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการ สถาบันพลาสติก กล่าวว่า พลาสติกถือเป็นวัสดุที่มีคุณประโยชน์และมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จึงมีการนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมที่หลากหลาย พร้อมทั้งสามารถปรับให้เหมาะสมกับการใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย หากใช้งานอย่างคุ้มค่าและจัดการอย่างมีประสิทธิภาพหลังใช้งาน ซึ่งจะเป็นวัสดุหนึ่งที่สามารถดูแลสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ต้องอาศัยการให้ความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือของชุมชนตลอดจนผู้อุปโภคบริโภคในการคัดแยกและจัดการกับขยะชนิดต่างๆ รวมไปถึงพลาสติกใช้แล้วภายในชุมชน ให้เกิดเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างอาชีพและธุรกิจของชุมชน จนสามารถเป็นแผนต้นแบบขยายสู่ระดับประเทศได้ ถือเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความลงตัวในทั้ง 3 มิติ คือ ชุมชนที่แข็งแรง ภาคธุรกิจที่เติบโต และเศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าและยั่งยืน
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH