บอร์ดบีโอไอเคาะมาตรการชุดใหญ่ หนุนผลิตเครื่องมือแพทย์รับมือโควิด-19

อัปเดตล่าสุด 15 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 570 Reads   

บอร์ดบีโอไอไฟเขียวมาตรการเร่งรัดลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิต เพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศ พร้อมมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
 
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 บอร์ดได้อนุมัติมาตรการหลายประการ ทั้งการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็วสนองต่อความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในสถานการณ์ปัจจุบัน และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีของประชาชนในประเทศ และมาตรการผ่อนปรนเงื่อนไขและบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบการ

เร่งรัดให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นเพื่อรับมือกับ COVID-19
 
โดยมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ประกอบด้วย
 

  1. มาตรการเร่งรัดการลงทุนในอุตสาหกรรมทางการแพทย์เพื่อรับมือกับ COVID-19 โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งปกติจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี อยู่แล้ว เช่น การผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึง Non- Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบใน การผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ยาและสารออกฤทธิ์สำคัญในยา เป็นต้น โดยมาตรการนี้จะครอบคลุมถึงโครงการที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563 และต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ทั้งนี้ จะต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อยร้อยละ 50 ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564
  2. มาตรการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเดิมเพื่อผลิตเครื่องมือแพทย์หรือชิ้นส่วน รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยต้องนำเข้าภายในปี 2563 และยื่นขอแก้ไขโครงการภายในเดือนกันยายน 2563
  3. การปรับสิทธิประโยชน์สำหรับกิจการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำในอุตสาหกรรมทางการแพทย์โดยเพิ่มเติมขอบข่ายประเภทกิจการผลิตเชื้อเพลิงจากผลผลิตการเกษตรให้ครอบคลุมถึงการผลิตแอลกอฮอล์ทางการแพทย์ (Pharmaceutical Grade) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้กิจการผลิต Non- Woven Fabric ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์การแพทย์ จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี เป็น 5 ปี

 

 

มาตรการผ่อนปรนเพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ประกอบการ
 
นางสาวดวงใจ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ผู้ได้รับการส่งเสริม การลงทุนหลายรายไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ภายในกรอบเวลาที่คณะกรรมการกำหนดได้ บอร์ดจึงเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยผ่อนปรนเงื่อนไขและพิจารณาขยายเวลาการดำเนินการสำหรับกรณีที่เกี่ยวข้อง เช่น การขยายเวลานำเข้าเครื่องจักรและเปิดดำเนินการ การขยายเวลาการดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล การผ่อนผันการขออนุญาตหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 เดือน เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับผลกระทบซึ่งสำนักงานจะออกประกาศแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ต่อไป
 
เร่งสนับสนุนภาคเอกชนให้ลงทุนเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม
 
ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังมีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม เพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง และการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง หรือพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยแผนการดำเนินการบริหารจัดการน้ำ ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติและสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วย และต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2564
 
ทั้งนี้ ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ผู้ประกอบการจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี สัดส่วนไม่เกินร้อยละ 120 ของเงินสนับสนุน หรือให้ได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 120 ของเงินสนับสนุน แล้วแต่กรณี
 
ปรับปรุงสิทธิประโยชน์และประเภทกิจการเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรม และเกษตรสมัยใหม่
 
นอกจากนั้น บอร์ดบีโอไอยังได้เห็นชอบให้ขยายขอบข่ายการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรสำหรับของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาให้ครอบคลุมประเภทกิจการอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ ประเภทกิจการที่มีเงื่อนไขกำหนดให้ทำการวิจัยและพัฒนา ประเภทกิจการที่ให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงขึ้นเมื่อมีการวิจัยและพัฒนา รวมถึงโครงการที่ทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ
 
นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงประเภทกิจการผลิตหรือบริการระบบเกษตรสมัยใหม่ เพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีการลงทุนในกิจการผลิตหรือบริการระบบเกษตรสมัยใหม่ให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบ หรือดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศ โดยผ่อนปรนเงื่อนไขของประเภทกิจการให้ครอบคลุมถึงกิจการที่ไม่มีการออกแบบระบบและซอฟต์แวร์ด้วยตัวเอง แต่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์หรือแพลตฟอร์ม โดยผู้พัฒนาในประเทศไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี

อนุมัติมิตซูบิชิลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอได้อนุมัติโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าการลงทุนรวม 5,480 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสายการผลิตรถยนต์เดิมที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี สำหรับผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีกำลังการผลิตรวม 39,000 คันต่อปี แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles - BEV) ประมาณ 9,500 คันต่อปี และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicles - HEV) ประมาณ 29,500 คันต่อปี โดยจะเริ่มผลิตประมาณปี 2566 และจะมีการส่งออกไปตลาดอาเซียนด้วย

 

อ่านเพิ่มเติม: