อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ส่งสัญญาณบวก ฟอร์ด มอเตอร์ อัปเกรดโรงงาน ผลิตรถยนต์รุ่นใหม่

อุตฯ ยานยนต์ไทย ส่งสัญญาณบวก หลังผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ทุ่มอัปเกรดโรงงาน เตรียมผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ปีหน้า

อัปเดตล่าสุด 13 ธ.ค. 2564
  • Share :

ก.อุตฯ ปลื้มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยฟื้นต่อเนื่อง จากตลาดในประเทศ การส่งออก และการลงทุนที่เพิ่มขึ้น คาดปี 2564 การผลิตจะขยายตัวถึง 15% จากความเชื่อมั่นนักลงทุน และการผลักดันมาตรการส่งเสริมยานยนต์สมัยใหม่ ล่าสุด ฟอร์ด มอเตอร์ ทุ่ม 28,000 ล้านบาท ยกระดับโรงงานด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 

Advertisement

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกทำให้การผลิตชะลอตัว นักลงทุนจึงมีการทบทวนแผนการลงทุน และปรับแผนการผลิตในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีค่ายรถยนต์หลายบริษัท หันมาให้ความสนใจเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศไทย และนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ของประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย ยกระดับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนในการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนด้วยการใช้หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหลังการเปิดประเทศ ให้เติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

การผลิตยานยนต์ในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกฟื้นตัว มีแนวโน้มขยายตัวที่ดี คาดว่า การผลิตในปี 2564 รวม 1.6 ล้านคัน ขยายตัวร้อยละ 15 และปี 2565 คาดว่า การผลิตจะขยายตัวอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ได้ประกาศแผนการลงทุนมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท ในการยกระดับกระบวนการผลิตในโรงงานด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและเพิ่มหุ่นยนต์อุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลิตรถกระบะ Ford Ranger และรถยนต์นั่งเอนกประสงค์ Ford Everest เจเนอเรชั่นใหม่ สำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปตลาดสำคัญทั่วโลก โดยการลงทุนเพิ่มครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนในประเทศไทยครั้งใหญ่ในรอบ 25 ปี ส่งผลให้บริษัท ฟอร์ดฯ เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย มีมูลค่าการลงทุนสะสมกว่า 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 100,000 ล้านบาท

นายสุริยะฯ กล่าวต่อว่า “การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี และเพิ่มหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมาใช้ในส่วนของการผลิตของโรงงานประกอบรถยนต์ทั้ง 2 แห่ง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีสายการผลิตไปสู่ Industry 4.0 ทำให้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมทั้ง มีส่วนช่วยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve โดยมีเป้าหมายยกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิตและใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของอาเซียนภายในปี 2569 อีกด้วย”

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย คิดเป็นประมาณ 5.9% ของ GDP (หรือประมาณ 11% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม) ในปี 2563 ไทยมีการผลิตรถยนต์รวม 1.4 ล้านคัน เป็นอันดับที่ 11 ของโลก ประมาณร้อยละ 50 ของการผลิตเป็นการส่งออกไปยัง 170 ประเทศทั่วโลก มีมูลค่าการส่งออกรวม 919,000 ล้านบาท (เป็นอันดับ 1 ของสินค้าส่งออกของไทย) โครงสร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยประกอบด้วยผู้ผลิตรถยนต์ 19 ราย ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ 10 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนมากกว่า 2,300 ราย รวมแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 750,000 คน โดยผลิตภัณฑ์ที่เป็น Product Champion ของไทยประกอบด้วยรถปิกอัพ 1 ตัน รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) และรถจักรยานยนต์คุณภาพสูง

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH