Semiconductor, USA, China, Supply Chain

สนค. ศึกษาสหรัฐฯ-จีน เปิดศึกอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง ดูผลกระทบ-ทำแผนรับมือ

อัปเดตล่าสุด 20 เม.ย. 2566
  • Share :
  • 27,410 Reads   

สนค.จับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างสหรัฐฯ-จีน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างไร ทั้งด้านการผลิต การค้า การลงทุน และอื่น ๆ เบื้องต้นพบสหรัฐฯ มุ่งผลิตสินค้าสำคัญเอง ทั้งเซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่ แร่ ยา ส่วนจีนก็มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมของตนเอง เผยบริษัทอิเล็กทรอนิกส์เริ่มย้ายฐานออกจากจีน หลายชาติโยกคำสั่งซื้อออกจากจีน ชี้ไทยต้องเกาะติด เพื่อช่วงชิงผลประโยชน์  

วันที่ 18 เมษายน 2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐฯ และจีน และนัยยะต่อเศรษฐกิจการค้าไทย เพื่อประเมินแนวโน้มการแยกห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสำคัญที่มีผลทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่กำลังเกิดขึ้นว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ทั้งด้านการผลิต การค้า การลงทุน และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างไร

ทั้งนี้ ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ในปี 2564 สหรัฐฯ เริ่มมีการทบทวนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์และบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง แบตเตอรี่ความจุพลังงานสูง รวมถึงแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า แร่สำคัญ ยา และสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม และในปี 2565 ได้ผ่านกฎหมาย The CHIPS and Science Act เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และกฎหมาย Inflation Reduction Act ที่ส่วนหนึ่งภายใต้กฎหมายนี้ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

ส่วนจีนได้วางยุทธศาสตร์ส่งเสริมภาคการผลิตเป็นพิเศษ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานของตนเอง เช่น Made in China 2025 แผนพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ยุคใหม่ 2030 (AI 2030) และกำหนด 7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีน ฉบับที่ 14 (2564-2568) ซึ่งรวมถึงเซมิคอนดักเตอร์

“นโยบายและมาตรการเหล่านี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการแยกตัวของห่วงโซ่อุปทานระหว่างสหรัฐฯ-จีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงการที่สหรัฐฯ ร่วมกับประเทศพันธมิตรในการกีดกันเทคโนโลยีสำคัญจากจีน โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่จีนก็เริ่มโต้ตอบกลับโดยการสั่งทบทวนการนำเข้าชิปจาก Micron Technology (ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ) ในปลายเดือนมี.ค.2566 ที่ผ่านมา” นายพูนพงษ์กล่าว

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการศึกษานี้ อยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็น ทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นักวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ข้อมูลเบื้องต้นว่าบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่หลายราย พยายามย้ายฐานการผลิตออกจากจีน รวมถึงต่างชาติมีการโยกย้ายคำสั่งซื้อจากฐานการผลิตในจีนไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอาเซียน ตลอดจนการที่บริษัทข้ามชาติพยายามที่จะใช้ฐานการผลิตในอาเซียนทดแทนจีนในการผลิตเพื่อส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ประโยชน์

“การแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาหรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ซึ่งหลายประเทศกำลังเร่งออกนโยบายดึงดูดการลงทุน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยมีการร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรในการส่งเสริมความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานสำหรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีสำคัญ รวมถึงการกีดกันประเทศอื่น แนวโน้มการแยกห่วงโซ่อุปทานดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องเร่งศึกษาและปรับตัวเพื่อช่วงชิงประโยชน์และลดผลกระทบจากแนวโน้มการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้น” นายพูนพงษ์กล่าว

ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ขณะที่จีน เป็นคู่ค้าและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย อีกทั้งเศรษฐกิจไทยมีการเชื่อมโยงกับตลาดและฐานการผลิตทั้งในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งการส่งออกเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของ GDP ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ที่จำเป็นต้องใช้เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ เป็นกลุ่มสินค้าส่งออกสำคัญของไทย คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

 

#สงครามการค้า #จีนสหรัฐ #เทคโนโลยีไฮเทค #ชิปเซมิคอนดักเตอร์ #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม #onlinecontent

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH