ส่งออกไทย, ส่งออกไทย 2566, RCEP, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, Export, ASEAN

ฟิลิปปินส์ยื่นสัตยาบัน RCEP ชาติสุดท้าย เริ่มบังคับใช้ 2 มิ.ย.นี้ เพิ่มโอกาสไทยผลิตและส่งออกสินค้าในภูมิภาค

อัปเดตล่าสุด 20 เม.ย. 2566
  • Share :

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ แจ้งข่าวดี ฟิลิปปินส์เป็นชาติสุดท้ายที่ให้สัตยาบันความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ 2 มิ.ย.นี้ จะยกเลิกเก็บภาษีศุลกากรกลุ่มประมง พลาสติก แก้ว และชิ้นส่วนยานยนต์ ชี้! เพิ่มโอกาสไทยขยายเครือข่ายการผลิตและส่งออกสินค้า สามารถใช้วัตถุดิบจากฟิลิปปินส์ผลิตเพื่อการส่งออก และใช้วัตถุดิบจากสมาชิก RCEP มาผลิตและส่งออกไปฟิลิปปินส์ได้

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 - นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ได้ยื่นสัตยาบันสารรับปฏิบัติตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียน ซึ่งถือเป็นสมาชิกประเทศสุดท้ายที่ให้สัตยาบันความตกลง RCEP หลังจากสมาชิก 14 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เมียนมา เกาหลีใต้ และมาเลเซีย ให้สัตยาบันความตกลงไปก่อนหน้านี้ โดยความตกลง RCEP จะมีผลบังคับใช้กับฟิลิปปินส์อย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 2 มิถุนายนนี้ และถือว่าสมาชิกผู้ก่อตั้ง RCEP ทั้ง 15 ประเทศ ให้สัตยาบันความตกลงครบแล้ว

นางอรมน กล่าวว่า การให้สัตยาบันความตกลง RCEP ครั้งนี้ จะส่งผลให้ฟิลิปปินส์ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรในกลุ่มสินค้าสินค้าประมง พลาสติก แก้ว และชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ฟิลิปปินส์ยังไม่ได้เปิดตลาดภายใต้  FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถเลือกใช้วัตถุดิบจากฟิลิปปินส์ในการผลิตสินค้า เพื่อส่งออกไปยังสมาชิก RCEP อื่นที่มิใช่อาเซียน รวมทั้งยังสามารถนำวัตถุดิบจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปฟิลิปปินส์ ซึ่งจะได้รับการลดหรือยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรภายใต้ RCEP ดังนั้น ความตกลง RCEP จะมีผลใช้บังคับกับฟิลิปปินส์ในอีก 2 เดือนข้างหน้า จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถขยายเครือข่ายการผลิตและการกระจายสินค้าในภูมิภาค RCEP ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2565 ฟิลิปปินส์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 14 ของไทยในโลก การค้าระหว่างไทยและฟิลิปปินส์ มีมูลค่า 11,217 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปฟิลิปปินส์ มูลค่า 7,383 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากฟิลิปปินส์ มูลค่า 3,834 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเม็ดพลาสติก และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

สำหรับปี 2565 การค้าไทยกับสมาชิก RCEP มีมูลค่า 327,286.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 55.45% ของการค้ารวมของไทยกับโลก ซึ่งไทยส่งออก มูลค่า 150,338.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้า มูลค่า 176,948.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยใช้สิทธิ์ส่งออกภายใต้ RCEP มูลค่า 994.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ใช้สิทธิส่งออกสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด และเลนส์สำหรับกล้องถ่าย เครื่องฉาย และไทยใช้สิทธิ์นำเข้าภายใต้ RCEP มูลค่า 479.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าที่ใช้สิทธิ์นำเข้าสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ไม้อัดพลายวูด ด้ายไยยาวสังเคราะห์ องุ่นสดหรือแห้ง โพลิอะไมด์ในลักษณะขั้นปฐม และโซเดียมไฮดอรกไซด์

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH