ก.อุตฯ บุกญี่ปุ่น มุ่งพัฒนาอุตฯระหว่างประเทศ เชื่อมความร่วมมือ - ดึงดูดลงทุนไทย

ก.อุตฯ บุกญี่ปุ่น มุ่งพัฒนาอุตฯระหว่างประเทศ เชื่อมความร่วมมือ - ดึงดูดลงทุนไทย

อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 562 Reads   

ก.อุตฯ บุกญี่ปุ่น มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ หนุนดีพร้อม เชื่อมความร่วมมือ อิชิกาวะ พร้อมดัน กนอ. ดึงนักลงทุนญี่ปุ่น คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโตกว่า 1 หมื่นล้าน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะกระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11 - 15 มกราคม 2566 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ เน้นเชื่อมโยงความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม และเชิญชวนนักลงทุนชาวญี่ปุ่นให้มาลงทุนในประเทศไทย โดยการสร้างเครือข่ายคุณภาพผ่านบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น มุ่งยกระดับเศรษฐกิจด้วยการดึงศักยภาพความพร้อมในการลงทุนจากต่างแดน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลอุตสาหกรรม เครื่องจักร เทคโนโลยี การจับคู่ธุรกิจ และการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในอุตสาหกรรม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท

นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับแรกในการพัฒนาและยกระดับภาอุตสาหกรรมของทั้งสองประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการจัดตั้ง “โต๊ะญี่ปุ่น” ขึ้นในปี 2009 เพื่อผนึกเครือข่ายการลงทุนและคู่ค้ากับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งการเชื่อมโยงความร่วมมือในลักษณะพื้นที่ต่อพื้นที่ผ่านการลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรม (Cluster) ภายใต้แนวคิด OTAGAI (โอ-ทา-ไก) หรือ ที่แปลได้ว่า “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน” โดยได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เป็นตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรมขยายผลความร่วมมือ

ซึ่งในครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11 – 15 มกราคม 2566 ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) คลี่คลาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพร้อมในการต้อนรับนักลงทุนจากญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตเพิ่มในไทย โดยให้มั่นใจว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมพร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก รวมถึงการยกระดับการส่งออกสินค้าที่สำคัญของไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนมีรากฐานมาจากประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น และในปัจจุบันมีนักลุงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทย จำนวนกว่า 6,000 กิจการ เพื่อสร้างโอกาสที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์และผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการไทยและญี่ปุ่น ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดอิชิกาวะ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายความร่วมมือในระดับพื้นที่ต่อพื้นที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมและประเทศญี่ปุ่น โดยจังหวัดอิชิกาวะถือเป็นรัฐบาลท้องถิ่นแห่งที่ 23 ที่ได้มีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม 

โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมการลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นไปแล้วจำนวน 23 แห่ง เพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลอุตสาหกรรม เครื่องจักร เทคโนโลยีการจับคู่ธุรกิจ และการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น และต่อยอดสู่การขยายความร่วมมือเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การประชุมเครือข่ายความร่วมมือด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม (OTAGAI Forum) การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ การจัดนิทรรศการ และการจัดประชุมต่าง ๆ เป็นต้น ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นข้อมูลข่าวสาร และแผนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน 

โดยมีเป้าหมายสู่การดำเนินงานความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคตให้สามารถก้าวหน้าไปด้วยกันในลักษณะ win – win โดยในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนบริษัทเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนแบบ FDI แบบ Joint Venture รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมไทย เพิ่มขึ้นอีก 500 บริษัท คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10,000 ล้านบาท และยังเกิดความร่วมมือในระดับรัฐบาลท้องถิ่น อาทิ การจัดตั้งสำนักงานจังหวัดโตเกียว ฟุกุโอกะ และการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมจังหวัดมิเอะ – ประเทศไทย ขึ้นในประเทศไทย และจังหวัดชิมาเน่ วากายาม่า และเมืองโยโกฮามะ ที่ส่งผู้แทนมาประจำที่กระทรวงอุตสาหกรรม 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การเชื่อมโยงความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง ดีพร้อม (DIPROM) และรัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดอิชิกาวะ ในวันนี้ เพื่อความร่วมมือในการมุ่งให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น โดยการแสดงความพร้อมและศักยภาพของไทยในการต้อนรับการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการเตรียมการรองรับการลงทุนจากต่างชาติเป็นอย่างดี โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้มีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยให้ทันสมัย โดยปัจจุบันได้ให้นโยบายไปว่าควรจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะตามแนวทาง BCG และมีความพร้อมที่จะเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ในการลงทุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และขอเชิญชวนผู้ประกอบการจากจังหวัดอิชิกาวะที่มีความสนใจขยายฐานธุรกิจไปยังต่างประเทศให้มาลงทุนที่ประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมจะให้การดูแลผู้ประกอบการจากจังหวัดอิชิกาวะที่มาลงทุนแล้วหรือที่จะมาลงทุนในประเทศไทย

โดยหลังจากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในวันนี้ ดีพร้อม (DIPROM) และจังหวัดอิชิกาวะจะได้ร่วมกันการจัดงาน OTAGAI Forum ครั้งที่ 22 ขึ้นที่เมืองนานาโอะ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรม Carbon-fiber-reinforced polymers จากการประยุกต์ใช้เส้นใยกัญชง เป็นความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรม BCG และความร่วมมือในสาขาอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร รวมถึงมหาวิทยาลัยคานาซาว่า (Kanazawa University) ที่จะมีการส่งนักศึกษาเข้ามาฝึกงานกับบริษัทในประเทศไทย เพื่อสร้างให้เกิดเครือข่ายธุรกิจระหว่างไทยกับจังหวัดอิชิกาว่า โดยจะเน้นในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป นายสุริยะ กล่าวทิ้งท้าย 

นายฮาเสะ ฮิโรชิ ผู้ว่าราชการจังหวัดอิชิกาวะ ได้ตัดสินใจที่จะให้การสนับสนุนการเชื่อมโยงความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย โดยจังหวัดอิชิกาวะเป็นหนึ่งในแหล่งอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเส้นใยและสิ่งทอ อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ 

โดยการยกทัพของกระทรวงอุตสาหกรรมเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทางคณะยังได้เน้นย้ำถึงความพร้อมของประเทศไทยในการต้อนรับนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการกำกับดูแลโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมของไทย ควบคู่กับการให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานตามแนวนโยบาย BCG โดยเชิญชวนนักลงทุนที่มีศักยภาพมาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลงทุนในประเทศไทย ด้วยการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร Total Solution Center (TSC) ที่จะคอยให้บริการและดูแลนักลงทุนท่านในทุกมิติ ซึ่งปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรม จำนวน 67 นิคมอุตสาหกรรม 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม ใน 16 จังหวัดทั่วประเทศไทย รวมพื้นที่อุตสาหกรรมประมาณ 200,000 ไร่ มูลค่าการลงทุนจำนวนประมาณ 6 พันล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH