‘อียู’ ขยายเวลาเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายปรับคาร์บอน
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชวนผู้ประกอบการไทยแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายปรับคาร์บอนที่พรมแดน (CBAM) ของอียู หลังขยายเวลาเปิดรับฟังความเห็นไปจนถึง 18 พ.ย. นี้ กังวล! ร่างกฎหมายอาจขัดกับกติกาของ WTO และอาจกระทบการค้าสองฝ่าย แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออกเร่งศึกษาเตรียมความพร้อม ปรับกระบวนการผลิต ก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้
- รับมือ "มาตรการปรับคาร์บอนฯ อียู" มีผลบังคับใช้ต้นปี 2566
- อียูเร่งเครื่อง ลดคาร์บอน ร่นเวลาแบนน้ำมัน ดันอีวี 100% ปี 2035
- “ลดคาร์บอน” คลื่นลูกใหม่ ท้าทายธุรกิจโลก
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่สหภาพยุโรป (อียู) เตรียมใช้มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM) ในปี 2566 โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อกระตุ้นให้ประเทศผู้ส่งออกเร่งผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมตามที่อียูกำหนด โดยอียูได้เผยแพร่ร่างระเบียบ CBAM ทางเว็บไซต์ คลิก
สำหรับมาตรการ CBAM ในช่วง 3 ปีแรก (2566–2568) ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งข้อมูลปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้าต่ออียู และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้นำเข้าต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM ให้หน่วยงานผู้มีอำนาจของประเทศสมาชิกอียู และมีความเป็นไปได้มากที่หลังจากนั้นอียูจะขยายมาตรการให้ครอบคลุมไปถึงสินค้าประเภทอื่น ๆ ด้วย
นางอรมน กล่าวว่า ขณะนี้ อียูได้ขยายเวลาการเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมาย CBAM ไปจนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ (เวลาบรัสเซลส์) กรมฯ จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจหรือมีข้อกังวลต่อมาตรการดังกล่าว สามารถส่งความเห็นได้ที่เว็บไซต์ https://ec.europa.eu/info/law/better-regulation/have-your-say/initiatives/12228-EU-Green-Deal-carbon-border-adjustment-mechanism-_en นอกจากนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างจัดทำความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะข้อกังวลในเรื่องความสอดคล้องกับกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) ความสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้นำเข้ากับผู้ผลิตในอียู และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการค้าระหว่างสองฝ่ายอีกด้วย
“ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไปอียูควรเตรียมความพร้อมในการปรับตัวรับมาตรการ CBAM ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งรัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อปรับกระบวนการผลิตไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้พลังงานทางเลือกที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศมากขึ้น นอกจากนี้ กรมฯ ได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมรับมือในเบื้องต้นกับมาตรการดังกล่าวแล้ว” นางอรมน เสริม
ในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าตามรายการที่ครอบคลุมในมาตรการ CBAM ไปยังอียู เป็นมูลค่า 145.08 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 4.25 ของการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยไปสู่โลก ประกอบด้วย เหล็กและเหล็กกล้า 104.46 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 5.03 ของการส่งออกของไทยไปสู่โลก) อะลูมิเนียม 40.62 ล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 4.58 ของการส่งออกของไทยไปสู่โลก) ส่วนซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ไทยส่งออกไปอียูในปริมาณที่น้อยมาก หรือไม่มีการส่งออก
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ส่งออกไทย 2564 เดือน มิ.ย. ขยายตัว 43% สูงสุดรอบ 11 ปี อีกครั้ง
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- สรุปยอดขายรถยนต์ 2564 ครึ่งปีแรก
- วิกฤตซัพพลายเชนโลก: ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจ
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH