ความคืบหน้าโครงการ EEC แผนลงทุนอีอีซี 4 โครงสร้างพื้นฐาน โดรน อากาศยานไร้คนขับ

ติดตามความคืบหน้า EEC ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ (กพอ.) ครั้งที่ 3/2565

อัปเดตล่าสุด 14 ก.ค. 2565
  • Share :
  • 1,997 Reads   

อีอีซี เผย 4 โครงสร้างพื้นฐานหลักคืบหน้า ทั้ง รถไฟความเร็วสูง, อู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, ท่าเรือมาบตาพุด-แหลมฉบัง เร่งก่อสร้างแล้วทุกโครงการ พร้อมผลักดันการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล สร้างความมั่นใจทรัพยากรน้ำ การใช้เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูงในพื้นที่ และพัฒนา “โดรน” อากาศยานไร้คนขับ ให้เกิดประโยชน์ครบทุกมิติ

Advertisement

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 3/2565 วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธานการประชุม ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้

1. อีอีซี 4 โครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าก่อสร้างแล้วทุกโครงการ อย่างเป็นรูปธรรม

ที่ประชุม กพอ. รับทราบความก้าวหน้าภารกิจขับเคลื่อนโครงสร้้างพื้นฐานหลัก ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุุนรัฐ-เอกชน (PPP) ได้แก่

1)  โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา งานสาธารณูปโภครื้อเสร็จและรฟท. ได้พื้นที่ครบ 100% เอกชนเข้าพื้นที่เตรียมก่อสร้าง เช่น งานสร้างถนน งานก่อสร้างโรงหล่อชิ้นงานโครงสร้าง ดำเนินการแล้วเสร็จ และเริ่มก่อสร้างต่อเนื่อง โดยส่วนเชื่อมสุวรรณภูมิ ถึงอู่ตะเภา คาดว่าจะเปิดบริการปี 2569

2)  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ส่วนภาครัฐ กองทัพเรือได้ออกแบบทางวิ่งที่ 2 เสร็จเรียบร้อย งานปรับถมดินลานจอดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแล้วเสร็จ 100% และงานปรับถมดินทางวิ่งที่ 2 ก้าวหน้าเกิน 80% และเอกชนคู่สัญญาเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจและเตรียมก่อสร้างแล้วตามแผนงาน ในส่วนของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ EHIA ผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว และอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำประชาพิจารณ์ในเดือนสิงหาคม และการปรับปรุงรายงานเพื่อนำเสนอ ครม. เดือนกันยายน 2565 โดยการก่อสร้างโครงการฯ ระยะที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568 ซึ่งจะสอดคล้องกับฟื้นตัวการเดินทางทางอากาศเพื่อท่องเที่ยวทั่วโลก ที่คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องหลังจากนี้ ภายหลังสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย

3)  โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เริ่มงานออกแบบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และงานออกแบบท่าเรือก๊าซแล้ว และขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และช่วงงานถมทะเล โดยได้จัดตั้งมูลนิธิกองทุนฯ ชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
ตามข้อกำหนด EHIA เรียบร้อย สำหรับท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 1 ท่าเรือสินค้าเหลวและพื้นที่คลังสินค้า คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569

4)  โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มต้นการก่อสร้างงานทางทะเล และการจัดทำ EHIA สำหรับท่าเทียบเรือ F จะอนุมัติภายในเดือนสิงหาคม 2566 โดยงานสาธารณูปโภคและท่าเทียบเรือ F1 คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2568 อีอีซี พร้อมผลักดันทุกโครงการดำเนินการลงทุนได้ตามแผน และทำหน้าที่ประสานความร่วมมือหน่วยงานเจ้าของโครงการ และเอกชนคู่สัญญา ให้การก่อสร้างทุกโครงการ เสร็จตามแผน เพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ  

2. ผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล สร้างความมั่นใจทรัพยากรน้ำ : พื้นที่ อีอีซี มีน้ำเพียงพอ เพิ่มความมั่นใจนักลงทุน

ที่ประชุม กพอ. รับทราบ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะล (Desalination) ในพื้นที่ อีอีซี ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีเพื่อสร้างความมั่นคงต่อทรัพยากรน้ำที่จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำเข้าสู่ระบบทั้งเพื่อการบริโภค ภาคเกษตรและการผลิตในอุตสาหกรรม โดยอีอีซี ได้ศึกษาร่วมกับ สทนช. และสถาบันขนส่งจุฬาลงกรณ์ฯ ถึงพื้นที่เป้าหมายในการติดตั้งระบบผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล 2 แห่ง ได้แก่

นิคมฯ มาบตาพุด และเมืองพัทยา ซึ่งคาดว่าในอีก 5 ปีหรือปี 2570 จะมีความจำเป็นต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลบริเวณมาบตาพุด ไม่น้อยกว่า 200,000 ลบ.ม.ต่อวัน เพื่อรองรับการใช้ในพื้นที่ อีอีซี และในปี 2580 จำเป็นต้องผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล ไม่น้อยกว่า 300,000 ลบ.ม และเมื่อรวมกับแหล่งน้ำสำรอง รวมถึงบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จะทำให้อีอีซี มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ในภาพรวม ทั้งนี้ การดำเนินการต่อไป อีอีซี สทนช. กนอ. และเมืองพัทยา จะร่วมกันหารือถึงแนวทางดำเนินการ การคัดเลือกเทคโนโลยี รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อขับเคลื่อนการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลได้อย่างยั่งยืนต่อไป

3. ผลักดันใช้เทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง คนไทยเข้าถึงรักษาด้วยยีนบำบัด ปลอดภัยโรคธาลัสซีเมีย

ที่ประชุม กพอ. รับทราบ การยกระดับบริการด้านยีนบำบัด (Gene theapy) สำหรับโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ซึ่งเป็นโรคโลหิตจางทางกรรมพันธุ์ที่พบได้บ่อยในคนไทยและมีค่าใช้จ่ายสูงในการดูแลต่อเนื่อง เป็นภาระของผู้ปกครอง ครอบครัว และประเทศ ปัจจุบันมีโอกาสรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ด้วยยีนบำบัด แต่ยังอยู่ในระยะวิจัยทางคลินิกและคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพื่อให้การใช้เทคโนโลยี ยีนบำบัดโรคธาลัสซีเมียมีต้นทุนที่เหมาะสม และประชาชนไทยสามารถเข้าถึงได้  สกพอ. มีความยินดีที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการวิจัยพัฒนาและผลิตยีนบำบัดในไทย และจะเตรียมพื้นที่สำหรับบริษัทที่ประสงค์จะลงทุนก่อสร้างศูนย์ผลิตอีกด้วย โดยสำหรับภาคเอกชนนั้น BGI Research แสดงความสนใจที่จะมาดำเนินการวิจัยทางคลินิกสำหรับผลิตภัณฑ์ยีนบำบัดเพื่อรักษาโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย ซึ่ง สกพอ. จะได้ช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุม กพอ. ได้รับทราบความก้าวหน้าเรื่อง จีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่ง สกพอ. ได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และบริษัท โรช ประเทศไทย จำกัด (Roche) จัดตั้งศูนย์ทดสอบระดับสากลสำหรับ “การตรวจยีนมะเร็งแบบครอบคลุม” และศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิด non small cell ระยะลุกลามด้วยการแพทย์แม่นยำ ช่วยให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาที่แม่นยำ ลดอัตราการสูญเสียจากโรคมะเร็ง คนไทยได้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์ชั้นสูง และยกระดับบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างยั่งยืน

4. พัฒนา “โดรน” อากาศยานไร้คนขับในพื้นที่ อีอีซี เกิดประโยชน์ครบมิติ

ที่ประชุม กพอ. รับทราบ การพัฒนาระบบนิเวศอากาศยานไร้คนขับ (UAS Ecosystem) หรือ “โดรน” ในพื้นที่อีอีซี โดยบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาที่จะเกิดการใช้ประโยชน์ครบมิติ อาทิ ด้านการเกษตร การถ่ายภาพ การขนส่งสินค้าและคน การสำรวจความปลอดภัย อีกทั้งจะขยายศักยภาพต่อยอดในด้านอื่นๆ โดยประเทศไทยคาดว่าจะมีการใช้โดรนมากถึง 700,000 ลำ ในเวลา 5 ปี และกว่า 80% จะใช้งานในพื้นที่อีอีซี ซึ่งจะสร้างประโยชน์ และพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตามแนวคิดการสร้างเมืองการบิน (Aerotropolis) เชื่อมโยงระบบคมนาคมโครงสร้างพื้นฐานหลัก เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานขนส่ง ลดต้นทุน ลดเวลา รวมทั้งต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมการผลิต และการแพทย์ครบวงจร เพื่อยกระดับการให้บริการและร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ New S Curve ในพื้นที่อีอีซี  

แนวทางการพัฒนา โดรน ในพื้นที่อีอีซี ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1) จัดการจราจรและบริหารห้วงอากาศ ผลักดันให้เกิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อีอีซี ลดขั้นตอนการประสานหลายหน่วยงาน 2) ฝึกอบรมนักบินโดรน พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมหลักสูตรที่รับรองจากสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) เกิดการจ้างงานและพัฒนาทักษะบุคลากรที่เชี่ยวชาญ 3) ให้บริการและพัฒนาท่าอากาศยานในพื้นที่ สนับสนุนให้บริการเชิงพาณิชย์อื่น ๆ เช่น ขนส่งสินค้า ขนส่งคน พัฒนาท่าอากาศยานโดรน รองรับการขนส่งคนในอนาคต 4) ผลิต ซ่อมบำรุง และตรวจสอบมาตรฐาน พัฒนาสู่ศูนย์กลางบริการอย่างเป็นทางการ ได้รับมาตรฐานของผู้ผลิตรายใหญ่ 5) ส่งเสริมนวัตกรรม ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ พร้อมพัฒนาสนามทดสอบ เป็นพื้นที่ผ่อนปรนทางกฎหมาย และสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH