กนอ. MOU ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ความเป็นกลางทางคาร์บอน มาบตาพุด นิคม Smart Park

กนอ.จับมือ 7 พันธมิตร ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น ดันนิคมฯ สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปักหมุดแรกที่มาบตาพุด

อัปเดตล่าสุด 10 พ.ย. 2564
  • Share :

กนอ. ร่วม 7 พันธมิตรองค์กรธุรกิจไทยและญี่ปุ่น ลงนามความร่วมมือโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Industrial Estate) ปักหมุดแรกบนพื้นที่มาบตาพุด 

Advertisement

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด ผู้บริหาร บริษัท โอซาก้า แก๊ส จำกัด นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน ) นางวราวรรณ ทิพพาวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด นายฮิโรยูกิ นัมบุ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท คันไซ  อิเลกทริค เพาเวอร์ จำกัด นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายชิเกคิ มาเอดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOC) ผ่านระบบออนไลน์ ในโครงการศึกษาแนวทางในการพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutral Industrial Estate) ในพื้นที่มาบตาพุด โดยมีนายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งประเทศญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และนายนรินทร์ กัลยาณมิตร ประธานคณะกรรมการ กนอ. เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี

กนอ. mou ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น นิคม ความเป็นกลางทางคาร์บอน

นายวีริศ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ทุกฝ่ายมีเจตจำนงร่วมกันในการส่งเสริมความร่วมมือในโครงการศึกษาแนวทางในการพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่ต้องการจะเป็นสังคมคาร์บอนต่ำผ่านการดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

โดย กนอ.มุ่งมั่นสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว และยกระดับมาตรฐานนิคมอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ 4.0 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึง “นิคมอุตสาหกรรม Smart Park” ซึ่งจะอาศัยการออกแบบที่ยั่งยืนด้วยสถาปัตยกรรมและเทคโนโลยีที่สวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานชีวิตการทำงานในนิคมอุตสาหกรรม

นอกจากการมุ่งสู่ความยั่งยืนแล้ว นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จะนำเทคโนโลยีประหยัดพลังงานเพื่อเพิ่มความสามารถในการผลิต ลดการใช้พลังงาน ส่งเสริมการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และหันมาใช้พลังงานสะอาดที่หลากหลาย เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น รวมถึงยกระดับระบบการขนส่งที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ และระบบบริหารจัดการพลังงาน

นโยบาย BCG ของรัฐบาล มุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการลดคาร์บอนและมาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดเก็บ การขนส่ง และการใช้งาน สิ่งสำคัญคือต้องกระจายแหล่งพลังงานเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการผลิตพลังงานไฮโดรเจนด้วยพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่หลากหลาย เช่น ชีวมวล ซึ่งไฮโดรเจนเหลวสามารถจัดเก็บและขนส่งได้ง่ายกว่าไฟฟ้า เมื่อใช้และแปลงเป็นไฟฟ้า ไฮโดรเจนจะไม่ปล่อยของเสีย นอกจากน้ำ ซึ่งการลงนามร่วมกันในวันนี้คาดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นความท้าทายในการนำไฮโดรเจนและพลังงานสะอาดอื่นๆ มาใช้ในอนาคต นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาลไทยที่มีต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมรุ่นต่อไป ผ่านการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มีบทบาทสำคัญอย่างมาก” นายวีริศ กล่าว

นายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งประเทศญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า มีความภูมิใจที่จะบอกว่าญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นมิตรที่ดีของประเทศไทย และพร้อมสนับสนุนความเป็นกลางทางคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยคาดหวังถึงอนาคตของความเป็นกลางทางคาร์บอนของทั้งญี่ปุ่นและไทย โดยมองว่าการลดคาร์บอนของภาคอุตสาหกรรมจะช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และห่วงโซ่คุณค่าไฮโดรเจนในอาเซียนที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศไทย

นายยามาชิตะ โนริอากิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในนามของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าร่วมโครงการ ว่า ในฐานะส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งระหว่างไทยและญี่ปุ่น เราในฐานะบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าร่วมโครงการมีความประสงค์ที่จะใช้ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีของญี่ปุ่น เพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและกลายเป็นศูนย์กลางระดับโลกที่สำคัญของเทคโนโลยีขั้นสูง

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้แทนบริษัทของไทยที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า ปตท. เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพัฒนาพลังงานระดับโลก โดยมุ่งเน้นการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ความร่วมมือครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ ปตท. ในการดำเนินธุรกิจและสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพลังงานไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนซึ่งต้องการการสนับสนุนอย่างมากจากฝ่ายต่างๆ โดยเชื่อว่าโครงการนี้ จะสามารถแสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีขั้นสูงและสะอาดมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและทำให้เราก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและนำไปสู่การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีเป้าหมายในการมีส่วนร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคาร์บอนต่ำทั่วโลก ผ่าน “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมระบบโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ 2025” และ “กลยุทธ์การเติบโตสีเขียวผ่านการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอน” ซึ่งการศึกษาความเป็นไปได้นี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ( Minister of Economic, Trade and Industry : METI) ภายใต้โครงการ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานคุณภาพสูงในต่างประเทศ” เป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดที่ยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ

สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี โดยทุกฝ่ายจะประสานความร่วมมือระหว่างกันและกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือและนำข้อมูลที่ได้รับไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนา “นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ในพื้นที่มาบตาพุด ตลอดจนมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

 

#Carbon Neutral Industrial Estate #Carbon Neutrality #2050 Carbon Neutral #ความเป็นกลางทางคาร์บอน #ไทย ญี่ปุ่น #ลดคาร์บอน #ลดคาร์บอนไดออกไซด์ #มาบตาพุด #นโยบายสิ่งแวดล้อม 2564 #นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โรงงาน #มาตรการลดก๊าซเรือนกระจก #มาตรการลดโลกร้อน #เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก #EEC #นิคม Smart Park #นิคมอุตสาหกรรม Smart Park จังหวัดระยอง #นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค #การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH