EEC HDC ปรับเป้าพัฒนาบุคลากรหลังโควิด สร้าง 1.4 แสนคนภายในปี'65 รับอุตสาหกรรมเป้าหมาย
"อีอีซี" เร่งเครื่องสร้างกำลังคนตรงความต้องการอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนแผนพัฒนาบุคลากร เดินหน้าจัดฝึกอบรมระยะสั้น รักษาการจ้าง สร้างทักษะใหม่ ตั้งเป้าหลังโควิด-19 สร้างแรงงาน 1.4 แสนคนในปี 2564-2565
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 - คณะกรรมการประสานงานด้านพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC) ได้จัดประชุมครั้งที่ 1/2564 โดยมีนายอภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงาน EEC HDC เป็นประธานการประชุม ซึ่งมีความคืบหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้
- มีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ และจัดตั้งสำนักงาน EEC HDC อย่างเป็นทางการในเขตพื้นที่อีอีซี ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือหลักระหว่างภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม กำกับดูแลการศึกษาภาคปฏิบัติของสถาบันการศึกษา ผลิตบุคลากรตรงความต้องการกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งยกระดับการจัดการศึกษารูปแบบ “EEC Model” เพื่อเป็นกลไกหลักในการพัฒนาอีอีซี และประเทศต่อไป
- แผนดำเนินงานพัฒนาทักษะบุคลากร EEC Model ปี 2564-2565 ได้พิจารณาโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับ สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการงบประมาณสำหรับการพัฒนาบุคลากรในอีอีซี มีเป้าหมายพัฒนาทักษะบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย EEC Model ทั้งรูปแบบ Type A (เอกชนจ่าย 100%) และ Type B (รัฐ-เอกชน ร่วมจ่าย 50:50) การสนับสนุนพัฒนาบุคลากรในภาพรวม และการพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ทักษะพื้นฐาน ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรในพื้นที่อีอีซีรวมไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนคน
- การขับเคลื่อนแผนการพัฒนาบุคลากรในปี 2564 คณะทำงานฯ เตรียมจัดอบรมระยะสั้น (EEC Model Type B Short course) อาทิ โครงการฝึกอบรมระยะสั้น 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานได้จริง โครงการฝึกอบรมระยะสั้นภาคยานยนต์ เพื่อรักษาการจ้างงานพร้อมกับพัฒนาทักษะใหม่ และโครงการฝึกอบรมระยะสั้น ภาคท่องเที่ยว ยกระดับบุคลากรท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวกับการปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวใหม่ (EEC Local Wisdom Tourism) โดยเบื้องต้นได้กำหนดเป้าหมายการฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากรรวมจำนวน 25,450 คน แบ่งเป็นการฝึกอบรมบุคลากรตามแผน 13,130 คน และการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 12,320 คน และในปี 2565 วางเป้าหมายจะพัฒนาทักษะบุคลากรได้รวม 36,700 คน โดยการฝึกอบรมพัฒนาทักษะบุคลากร ตั้งเป้าหมายรวมในระยะเวลาปี 2561–2566 สูงถึง 114,542 คน
- จัดทำฐานข้อมูลแรงงานรายบุคคลในพื้นที่อีอีซี โดยเก็บรวบรวมข้อมูลผู้เข้ารับการฝึกอบรมทักษะสูงเป็นรายบุคคล บันทึกข้อมูลเชื่อมโยงกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และหน่วยงานที่มีภารกิจด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรวบรวมข้อมูลรองรับความต้องการแรงงานอุตสาหกรรมเกิดใหม่ในอีอีซี สามารถติดตามและประเมินผลการพัฒนาทักษะ จับคู่ตำแหน่งงานตรงความต้องการ ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะสูง และยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน