BOI อนุมัติลงทุน 3 โครงการใหญ่ กว่า 1.5 หมื่นล้าน เร่งปลดล็อกอุปสรรค ดึงต่างชาติตั้งสำนักงานในไทย
บอร์ดบีโอไอ ประเดิมปี 2566 อนุมัติโครงการลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ขานรับนโยบายสร้าง “เศรษฐกิจใหม่” พร้อมบูรณาการหน่วยงานพันธมิตร เร่งปลดล็อกอุปสรรคการลงทุน เพื่อดึงต่างชาติจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค และสร้างกลไกสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน
วันที่ 13 มกราคม 2566 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บอร์ดบีโอไอ ซึ่งมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 15,784 ล้านบาท ได้แก่ โครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า ของบริษัท บีวายดี ออโต้ คอมโพเนนท์ส (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 3,893 ล้านบาท โครงการผลิต Carbon Black ของบริษัท ไทยโตไกคาร์บอนโปรดักท์ จำกัด มูลค่า 9,490 ล้านบาท และโครงการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) มูลค่า 2,401 ล้านบาท
“โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนครั้งนี้ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สอดรับกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของบีโอไอ และจะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว ทั้งในด้านการสร้างฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ และโครงการที่นำขยะชุมชนมาผ่านการคัดแยกและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง เพื่อนำไปใช้ในโรงปูนซิเมนต์และโรงไฟฟ้าแทนการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน” นายนฤตม์กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนภาคเอกชนที่มีความจำเป็นต้องปรับตัวตามกติกาโลกใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งทำให้บริษัทระดับโลกตั้งเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเข้าร่วมเป็นสมาชิก RE100 ซึ่งทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนในการดำเนินกิจการเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอจึงเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการจัดทำกลไกจัดหาไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Utility Green Tariff แบบเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า เพื่อให้กลไกดังกล่าวเป็นเครื่องมือใหม่ในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายจากบริษัทระดับโลกที่ประกอบธุรกิจด้วยความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
- บีโอไอ ออก 9 มาตรการเพิ่มสิทธิประโยชน์ ขับเคลื่อนลงทุนไทยสู่เศรษฐกิจใหม่
- ภาวะการลงทุนปี 2565 ยอดขอรับส่งเสริมกว่า 6.6 แสนล้าน ยานยนต์ไฟฟ้า - ดิจิทัล ปักหมุดไทย
- BOI ไฟเขียว 9 มาตรการเร่งดึงลงทุน เพิ่มกลุ่มกิจการใหม่ ให้สิทธิพิเศษกลุ่ม A1+ ยกเว้นภาษี 10 - 13 ปี
อำนวยความสะดวก “สำนักงานภูมิภาค” ครบวงจร
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอ เห็นชอบให้จัดตั้งบริการช่องทางอำนวยความสะดวกออนไลน์สำหรับกิจการสำนักงานภูมิภาคอย่างครบวงจร (ระบบ HQ Biz Portal) ซึ่งประกอบด้วย ระบบนัดหมายให้คำปรึกษาออนไลน์ ศูนย์รวมข้อมูลและบูรณาการการให้บริการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค ระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ บีโอไอ กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงข้อมูล ลดขั้นตอนและอุปสรรคในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย
“ในสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองและสงครามระหว่างประเทศ และความอ่อนไหวของเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้นักลงทุนมองหาพื้นที่ลงทุนตั้งธุรกิจที่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่ำ จึงเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่ใช้ช่วงเวลานี้ดึงดูดให้บริษัทชั้นนำเข้ามาจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค เพื่อใช้เป็นฐานในการกำกับดูแลและให้บริการบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยสร้างกลไกเพื่อให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาในจุดเดียว รวมถึงอำนวยความสะดวกในการขออนุมัติ/อนุญาต และเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าแห่งใหม่ของภูมิภาค” นายนฤตม์กล่าว
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ ครึ่งปีแรก 2022
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- สถานการณ์ชิปขาดตลาด 2022 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่?
- 12 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงแห่งปี 2022
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH