สสว. ร่วมกับ ผปก.ส่งออก ขอภาครัฐเร่งคืน VAT เสริมสภาพคล่อง

สสว. ร่วมกับ ผปก.ส่งออก ขอภาครัฐเร่งคืน VAT เสริมสภาพคล่อง

อัปเดตล่าสุด 11 พ.ค. 2564
  • Share :

สสว. ร่วมกับ ผปก.เอสเอ็มอีกลุ่มส่งออก หาแนวทางเติมสภาพคล่องและยกระดับมาตรฐานเพื่อขยายตลาด พบประเด็นน่าสนใจที่พร้อมเสนอรัฐบาลโดยไม่กระทบงบประมาณ คือ การคืนภาษี VAT ผู้ส่งออก เตรียมนำข้อเสนอของเอสเอ็มอีหารือกระทรวงการคลัง พร้อมหาแนวทางผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าถึงมาตรการคืนภาษีรวดเร็ว

Advertisement

รศ.ดร.วีระพงศ์  มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สสว. ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจด้านการส่งออก เกี่ยวกับแนวทางที่จะช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนและช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบซ้ำเติมผู้ประกอบการส่งออกให้มีสถานการณ์ที่ทรุดหนักยิ่งกว่าเดิม

ปัญหาสำคัญที่ผู้ประกอบการประสบในเวลานี้ คือ ภาระต้นทุนที่สูงและการขาดสภาพคล่อง แต่มีหนทางหนึ่งที่สามารถดำเนินการบรรเทาปัญหาได้ทันทีโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ คือ การพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้กับผู้ประกอบการส่งออกที่ได้มีการยื่นเรื่องขอคืนภาษีไว้ให้รวดเร็วขึ้น

ข้อมูลของ สสว. พบว่า ในรอบปี 2563 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้านการส่งออก มีจำนวนทั้งสิ้น 22,285 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย (Micro) จำนวน 3,460 ราย ผู้ประกอบการขนาดย่อมจำนวน (Small) 11,516 ราย และผู้ประกอบการขนาดกลาง (Medium) จำนวน 7,309 ราย สร้างมูลค่าการส่งออกรวม 839,750 ล้านบาท ซึ่งหดตัวลงในอัตราร้อยละ 17.08 เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมา ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและการแพร่ระบาดของไวรัส COVID 19 ที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

Advertisement

ทางออกสำคัญที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มส่งออก เสนอขอให้ภาครัฐให้ความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากลำบาก ประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก ๆ คือ

1. ขอให้เร่งดำเนินการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่งออก ได้ยื่นขอคืนภาษีค้างไว้เป็นระยะเวลานาน โดยใช้เกณฑ์และวิธีปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันในทุกพื้นที่ พร้อมกับมีกลไกในการแจ้งให้ผู้ประกอบการได้ทราบสถานะการตรวจสอบเพื่อจะได้จัดเตรียมข้อมูลเอกสารนำส่งได้อย่างถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น

2. ประชาสัมพันธ์ ปรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไขในการสมัครเป็นผู้ประกอบการส่งออกขึ้นทะเบียน และผู้ประกอบการส่งออกที่ดี ให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อเพิ่มโอกาสในการขอคืนภาษีได้เร็วขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าว จะได้รับสิทธิประโยชน์ในมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ภายใน 15 วัน แต่เพราะเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว ยังเป็นข้อจำกัดสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น ต้องมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ผลประกอบการจะต้องไม่ขาดทุนติดต่อกันเกิน 2 ปี ต้องมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ดังนั้น หากผ่อนปรนเงื่อนไข หลักเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถพัฒนาตัวเองให้เข้าเงื่อนไขได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ดี สสว. เห็นว่า การที่ผู้ประกอบการได้รับเงินภาษี VAT คืนล่าช้าเกินกว่า 90 วัน ตามระยะเวลาปกติ อาจจะมีผลมาจากการขาดความรู้ ความเข้าใจในการจัดเตรียมเอกสาร รวมถึงวิธีปฏิบัติเพื่อให้สามารถได้รับเงินคืนภาษีได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงได้เตรียมนำข้อเรียกร้องดังกล่าวของผู้ประกอบการ SME กลุ่มส่งออก เสนอกระทรวงการคลังเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค การพัฒนาองค์ความรู้ภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงแนวปฏิบัติให้กับผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการเตรียมการ และพัฒนาผู้ประกอบการ ให้เป็นผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ในมาตรการคืนภาษีดังกล่าวอีกด้วย

 

อ่านเพิ่มเติม: