ก.เกษตรฯ ผนึกสภาอุตฯ ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำ สู่ธุรกิจอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่

ก.เกษตรฯ ผนึก สภาอุตฯ หนุนโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำ ดันธุรกิจอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่

อัปเดตล่าสุด 11 พ.ค. 2564
  • Share :
  • 982 Reads   

กระทรวงเกษตรฯ ผนึกสภาอุตสาหกรรมฯ ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) สู่ธุรกิจอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ผ่าน 9 กิจกรรมหลัก ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น พร้อมด้วยตลาดภาคอุตสาหกรรมรองรับที่แน่นอน รวมถึงการส่งเสริมสตาร์ทอัพให้บริการทางการเกษตร เช่น เครื่องจักรกลการเกษตร, โดรน เป็นต้น

นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแนวทางส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตและการปลูกพืชที่เหมาะสม กล่าวว่า ภายใต้นโยบาย “การตลาดนำการเกษตร “ ของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) สู่ธุรกิจอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ สู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีแนวทางการดำเนินงานให้เกษตรกรรวมกลุ่มและบริหารจัดการแผนการผลิตสินค้าร่วมกัน โดยมีตลาดที่เป็นอุตสาหกรรมรองรับที่แน่นอน และเน้นกระบวนการจัดการที่ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น โดยสนับสนุนแผนการตลาดที่ชัดเจนของอุตสาหกรรม ทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และช่วงเวลาการรับซื้อ สนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต  ที่ทันสมัยและแม่นยำ

ทั้งนี้ ดำเนินการภายใต้การบูรณาการของหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ และ ส.อ.ท. ประกอบด้วย 9 กิจกรรมหลัก คือ (1) ส.อ.ท. กำหนดแผนความต้องการผลผลิตและราคารับซื้อที่ชัดเจน  (2) กระทรวงเกษตรฯ กำหนดขอบเขตพื้นที่การผลิตให้สอดรับกับที่ตั้งของอุตสาหกรรมและมิติด้านโลจิสติกส์ (3) ส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบป้อนสู่อุตสาหกรรมด้วยระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ (4) วิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่การผลิตด้วยระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) (5) พัฒนาเกษตรกร ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)  พร้อมเชื่อมโยงนวัตกรรมจากศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech and Innovation Center: AIC) ผ่าน ศพก. (6) ลดต้นทุนการผลิตและสนับสนุนการใช้ปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม เช่น การให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน โดยศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) (7) ส่งเสริม start up ให้บริการทางการเกษตร (Agricultural Service Provider: ASP) เช่นเครื่องจักรกลการเกษตร, โดรน (8) มีระบบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรตามมาตรฐานที่อุตสาหกรรมต้องการ (9) ใช้กลไกการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานในจังหวัดในการขับเคลื่อนงาน คือ คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation : CoO) ที่มีเกษตรจังหวัดเป็นประธาน และมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทำหน้าที่บูรณาการงานและปัจจัยในพื้นที่ เช่น ชลประทาน แหล่งน้ำ ที่ดินเป็นต้น โดยในระยะแรก ขับเคลื่อน 5 ชนิดสินค้าเป้าหมายตามความต้องการของสภาอุตสาหกรรม ได้แก่ ยางพาราปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดหวาน และมะเขือเทศ ในชั้นนี้กำหนดพื้นที่ดำเนินงานไว้ประมาณ 400,000 ไร่เศษและจะทยอยวางแผนให้ครบ 2 ล้านไร่ ตามเป้าหมายที่ภาคอุตสาหกรรมจะเสนอความต้องการเพิ่มเข้ามา ทั้งนี้ ได้รับแจ้งจาก ส.อ.ท. ได้เสนอยูคาลิปตัสเป็นพืชชนิดต่อไปที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ

โดยเมื่อวันที่ 8 และ 29 เมษายน และวันที่ 6-7 พฤษภาคม 2564 นางดาเรศร์ กิตติโยภาส ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำแนวทางส่งเสริมการใช้ปัจจัยการผลิตและการปลูกพืชที่เหมาะสม พร้อมด้วย นายสมัย ลี้สกุล และ นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธาน ส.อ.ท. และผู้บริหารของอุตสาหกรรมเกษตร 7 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัทไทยอิสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด (ยางพารา) 2. บริษัททักษิณปาล์ม จำกัด (ปาล์มน้ำมัน) 3. โรงงานน้ำตาลเกษตรไทย โรงงานน้ำตาลรวมผล และโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ (อ้อยโรงงาน) 4. บริษัทซันสวีทจำกัด (มหาชน) (ข้าวโพดหวาน) และ 5. บริษัทศรีเชียงใหม่อุตสาหกรรม จำกัด (มะเขือเทศ) เพื่อขับเคลื่อน ทำความเข้าใจ และหารือความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของ(ร่าง)แผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ของโครงการฯ ทั้ง 5 สินค้า ร่วมกับหน่วยงาน กษ. ในระดับจังหวัดและอำเภอ รวม 31 จังหวัด 9 หน่วยงาน พร้อมกับ อุตสาหกรรมทั้ง 5 อุตสาหกรรม 7 แห่ง รวมถึงหน่วยงานภายนอก ได้แก่ ธกส. 

“กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวนี้จะผลักดันให้ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเติบโตไปด้วยกัน สนับสนุนให้เกิด supply chain ที่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบและมีแผนงาน สร้าง value chain และสร้างงานในทุกห่วงโซ่ของระบบ สร้างความมั่นคงให้เกษตรกรและอุตสาหกรรม เป็นประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคให้ความเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงพึ่งพาตนเองได้” นางดาเรศร์ กล่าว

 

อ่านเพิ่มเติม: