silicon valley ในไทย, ซิลิคอนวัลเลย์ ไทย เอ็นไอเอ พาไขสมการปั้น “ซิลิคอนวัลเลย์ประเทศไทย” เมืองนวัตกรรมในฝัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

NIA พาไขสมการ ปั้น “ซิลิคอนวัลเลย์ประเทศไทย” เมืองนวัตกรรมในฝัน มั่นใจคนไทยทำได้!!

อัปเดตล่าสุด 8 มี.ค. 2565
  • Share :

เอ็นไอเอ (NIA) พาไขสมการปั้น “ซิลิคอนวัลเลย์เวอร์ชั่นประเทศไทย” เมืองนวัตกรรมในฝันที่ไม่ใช่แค่การขายฝัน มั่นใจคนไทยทำได้!!

“ซิลิคอนวัลเลย์” หนึ่งในแลนด์มาร์คสำคัญที่เป็นศูนย์กลางโลกเทคโนโลยีชั้นสูงและนวัตกรรม ซึ่งประกอบด้วยบริษัทไฮเทคจำนวนมาก รวมถึงบรรดาสตาร์ทอัพชั้นนำของโลก ทำให้หลายประเทศได้รับแรงบันดาลใจในการนำโมเดลการกำเนิด “ซิลิคอนวัลเลย์” ในสหรัฐอเมริกามาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศ เช่น อิสราเอล ที่เปลี่ยนจากประเทศขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติกลายเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง และมีสตาร์ทอัพระดับหัวกะทิกว่า 1 หมื่นราย ส่วนหนึ่งมาจากการสร้าง “ซิลิคอนวาดี” (Silicon Wadi) รอบ ๆ เทลาวีฟ ส่วนเกาหลีใต้ที่มีความเจริญก้าวหน้าด้านไอซีที อีคอมเมิร์ซ ซอฟต์เพาเวอร์ และก้าวขึ้นมาติดอันดับ 5 ของโลกในฐานะประเทศที่มีดัชนีนวัตกรรมดีที่สุดของปี 2021 ก็สร้าง “พันกโยเทคโนวาเลย์” (Pangyo Techno Valley) ที่เมืองซ็องนัม

สำหรับประเทศไทยก็มีการวางเป้าหมายในการสร้าง “ซิลิคอนวัลเลย์แบบเวอร์ชันไทยแลนด์” ไว้เช่นกัน แต่จะเกิดขึ้นได้จริงหรือจะเป็นเพียงการขายฝัน ลองมามอง 3 มิติการพัฒนาที่น่าสนใจกัน

“ย่านนวัตกรรม” สมการหน่วยแรกก่อนพาสชั้นสู่ “เมืองนวัตกรรม” และ “จักรวาลนฤมิตของนวัตกรรม”

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมักมองการพัฒนาพื้นที่ทางนวัตกรรมในระดับใหญ่ ซึ่งก่อนจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ควรเริ่มจากจุดเล็กๆ อย่าง “ย่านนวัตกรรม” (Innovation District) เพื่อให้ความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน เช่น ย่านการแพทย์ ย่านเทคโนโลยีดิจิทัล ย่านวัฒนธรรม ฯลฯ และเมื่อมีความชัดเจนจะเกิดการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ เกิดเม็ดเงินลงทุนของภาคเอกชน และเกิดแรงจูงใจให้สตาร์ทอัพอยากนำไอเดีย หรือผลงานเข้ามาทดลองใช้จริงในย่านนั้น ๆ และเมื่อมีจำนวนมากขึ้นก็จะขยายไปสู่การเป็นเมืองนวัตกรรม สมาร์ทซิตี้ และเชื่อมต่อไปสู่พื้นที่ใกล้เคียงที่มีความต่อเนื่องกัน โดยตัวอย่างการเชื่อมต่อย่านนวัตกรรมที่ NIA ได้เริ่มทำก็คือตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี) เชื่อมต่อไปยังย่านนวัตกรรมพระราม 4 ทรูดิจิทัลพาร์ค ถนนบางนาตราด ยาวไปจนถึงสนามบินอู่ตะเภา และอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

silicon valley ในไทย, ซิลิคอนวัลเลย์ ไทย เอ็นไอเอ พาไขสมการปั้น “ซิลิคอนวัลเลย์ประเทศไทย” เมืองนวัตกรรมในฝัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ปัจจุบัน NIA ได้ริเริ่มพัฒนาย่านนวัตกรรมแล้ว 16 ย่านจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 27 ย่านในประเทศ ซึ่งเฉพาะในกรุงเทพฯ สามารถรวบรวมพื้นที่ประมาณ 2-3 ล้านตารางเมตร และมีภาคเอกชน เช่น ทรูดิจิทัล พาร์ค เอไอเอส ฯลฯ ให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง และย่านที่เริ่มเห็นแววในการส่งเสริมการลงทุนอย่างจริงจังก็คือ “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” ที่ปัจจุบัน BOI เห็นชอบให้เป็นเขตส่งเสริมการลงทุน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมีพื้นที่ศูนย์กลางนวัตกรรมและการวิจัยทางการแพทย์ เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ระหว่างผู้ประกอบการกับสถาบันหรือหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งนับเป็นข่าวดีมากที่ในอนาคตคนไทยจะได้เห็นพื้นที่ทางการแพทย์ที่สำคัญ ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำในระดับโลก นอกจากนี้ มั่นใจว่าจะขยายโอกาสการส่งเสริมการลงทุนในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ย่านอื่นเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมบนพื้นฐานความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่ และก็เริ่มมีเมืองนวัตกรรมในจักรวาลนฤมิต (Metaverse) กันบ้างแล้ว

silicon valley ในไทย, ซิลิคอนวัลเลย์ ไทย เอ็นไอเอ พาไขสมการปั้น “ซิลิคอนวัลเลย์ประเทศไทย” เมืองนวัตกรรมในฝัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

 

“ดีพเทค” อีกตัวแปรสำคัญของนวัตกรรมไทย

ดร.พันธุ์อาจ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โอกาสที่จะสร้างให้เกิดเมืองที่เป็นเสมือนซิลิคอนวัลเลย์นั้น สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Tech) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของธุรกิจนวัตกรรมหลายประเภทและเป็นเครื่องมือสร้างความแตกต่างให้สตาร์ทอัพทั้งในเรื่องสิทธิบัตร ความยากในการลอกเลียนบริการและผลิตภัณฑ์ รวมถึงเป็นนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างตรงจุด ทั้งนี้ ในปี 2565 – 2566  NIA ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนสตาร์ทอัพด้านดังกล่าวให้ได้อย่างน้อย 100 ราย ใน 6 สาขา ได้แก่ การแพทย์และสุขภาพ อาหาร เกษตร อวกาศ การป้องกันประเทศ และอารีเทค (ARITech; AI , Robotic และ Immersive) ซึ่งคาดว่าจะช่วยตอบโจทย์สำคัญกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีได้อย่างตรงจุด โดยเมื่อมีการเกิดขึ้นของดีพเทคสตาร์ทอัพตามจำนวนเป้าหมายที่วางไว้แล้วก็จะเชื่อมโยงไปสู่ภาคอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นบริษัทขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อให้ภาคส่วนเหล่านี้ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันจนเกิดการต่อยอดสร้างมูลค่าในเชิงพาณิย์และสามารถนำไปใช้อย่างแพร่หลาย จนเกิดเป็นระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

โจทย์จากรัฐก่อนสร้างผลลัพธ์ซิลิคอนวัลเลย์เมืองไทย

“ที่ผ่านมาภาครัฐในฐานะเป็นผู้วางนโยบายและแนวทางการพัฒนาประเทศ ได้กำหนดนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนโดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (Eastern Economic Corridor หรือ EEC) เพื่อผลักดันเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งระยะแรกจะเป็นการยกระดับใน 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ที่ถือเป็นกลุ่มเขตอุตสาหกรรมสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรมผ่านโครงการนำร่อง เช่น เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ที่เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมบนพื้นที่ EEC สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง มีเป้าหมายในการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ควบคู่กับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ EECd ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน ด้านอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคที่เน้นให้เกิดการลงทุนทางธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ตลอดจนยกระดับการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีเดิมไปสู่อุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ที่เป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศไทย 4.0 นอกจากนี้

ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และเมืองวิทยาศาสตร์อมตะ (Science City) ซึ่งเป็นสวนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเอกชนแห่งแรกในประเทศไทยที่เป็นศูนย์รวมของบริษัททันสมัยและเป็นผู้นำในภาคอุตสาหกรรมไฮเทคและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ซึ่งประกอบด้วยศูนย์วิจัยและพัฒนา ผู้ให้บริการรับทําวิจัยตามสัญญา และสตาร์ทอัพ โดยกำหนดขอบเขต 4 โซน ได้แก่ โซนวิชาการ โซนวิจัยและพัฒนา โซนนวัตกรรม และโซนวิถีชีวิตแบบอัจฉริยะ ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าหากภาครัฐและเอกชนเพร้อมจับมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” โอกาสที่จะเกิด “ซิลิคอนวัลเลย์เมืองไทย” นั้นอยู่ไม่ไกลเกินฝันอย่างแน่นอน” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH