ยอดขอรับส่งเสริมบีโอไอปี 2563 กว่า 4.8 แสนล้านบาท อุตฯ การแพทย์มาแรง โต 165% หนุนไทยฝ่าวิกฤตโควิด

ยอดขอรับส่งเสริมบีโอไอปี 2563 กว่า 4.8 แสนล้านบาท อุตฯ การแพทย์มาแรงโต 165% หนุนไทยฝ่าวิกฤตโควิด

อัปเดตล่าสุด 10 ก.พ. 2564
  • Share :
  • 565 Reads   

บีโอไอสรุปสถานการณ์การลงทุนปี 2563 ตัวเลขขอรับการส่งเสริมรวมกว่า 4.8 แสนล้านบาท กลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์น่าจับตา มีมูลค่าลงทุนสูงกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท โตขึ้นร้อยละ 165 เมื่อเทียบกับปี 2562 ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ญี่ปุ่นครองแชมป์ยื่นขอรับส่งเสริมสูงสุดทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) เปิดเผยการลงทุนในปี 2563 ที่ผ่านมา มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,717 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 481,150 ล้านบาท    

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีมูลค่าลงทุนทั้งสิ้น 230,740 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าลงทุน 50,300 ล้านบาท 2) การเกษตร และแปรรูปอาหาร 41,140 ล้านบาท 3) ยานยนต์ และชิ้นส่วน 37,780 ล้านบาท 4) ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 36,020 ล้านบาท และ 5) เทคโนโลยีชีวภาพ 30,060 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ที่น่าจับตา ซึ่งคำขอรับการส่งเสริมตลอดปีมีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุน โดยมีจำนวน 83 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 177 ขณะที่มูลค่าลงทุนรวม 22,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 165

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นทั้งความท้าทายและโอกาส แม้ในภาพรวมการลงทุนจะชะลอตัว แต่ก็มีบางธุรกิจที่สามารถขยายตัวจากวิกฤตครั้งนี้ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งคำขอรับการส่งเสริมตลอดปี มีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าลงทุน ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนในช่วงปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะกิจการในกลุ่มของหน้ากากอนามัย และถุงมือยางทางการแพทย์

ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 907 โครงการ มูลค่าลงทุน 213,162 ล้านบาท โดยประเทศญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุดทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าลงทุน จำนวน 211 โครงการ มูลค่าลงทุน 75,946 ล้านบาท ตามด้วยประเทศจีน มูลค่าลงทุน 31,465 ล้านบาท และสหรัฐฯ มูลค่าลงทุน 24,555 ล้านบาท โดยจุดแข็งของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียคือ การมีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน วัตถุดิบและชิ้นส่วน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจ Business Conditions of Japanese Companies in Asia and Oceania ของ JETRO ปี 2562 ที่พบว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย ใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศไทยในระดับสูงกว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

สำหรับคำขอรับการส่งเสริมในพื้นที่ EEC มีจำนวน 453 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 208,720 ล้านบาท แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรี 226 โครงการ มูลค่าลงทุน 67,190 ล้านบาท จังหวัดระยอง 175 โครงการ มูลค่าลงทุน 115,870 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 52 โครงการ มูลค่าลงทุน 25,660 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในกลุ่มสาธารณูปโภค บริการพื้นฐานและการขนส่ง เป็นต้น

ส่วนคำขอรับการส่งเสริมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) มีจำนวน 17 โครงการ มูลค่าลงทุน 12,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 423 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนไทยมีศักยภาพ เช่น การผลิตถุงมือทางการแพทย์ และการผลิตอาหาร เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในปี 2563 มีสัญญาณที่ดีจากการลงทุนที่เป็นกิจการ SMEs โดยมีจำนวน 67 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 มูลค่าลงทุน 2,490 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกิจการผลิตเครื่องมือแพทย์จากผ้า หรือเส้นใยชนิดต่างๆ เช่น หน้ากากอนามัย เป็นต้น ซึ่งมีความต้องการสูงขึ้นมาก ประกอบกับบีโอไอให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมการแพทย์เป็นพิเศษเพื่อกระตุ้นการลงทุนผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19

 

สรุปภาวะการส่งเสริมการลงทุน ปี 2563

 

การขอรับการส่งเสริมในปี 2563 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,717 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 13 และมีมูลค่าเงินลงทุน 481,150 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 30 เนื่องจากปี 2562 มีโครงการขอรับการส่งเสริมโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ มูลค่าประมาณ 162,320 ล้านบาท และการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งกระทบต่อการยื่นขอรับการส่งเสริมของโครงการใหม่จากต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีมูลค่าการขอรับ   การส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 483,810 ล้านบาท พบว่ามีมูลค่าใกล้เคียงกัน 

การอนุมัติให้การส่งเสริมในปี 2563 มีการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 1,501 โครงการ ไม่มี   การเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน และมีมูลค่าเงินลงทุน 361,410 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19 เนื่องจากมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนลดลงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 

การออกบัตรส่งเสริมในปี 2563 มีการออกบัตรส่งเสริม 1,320 โครงการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1 และมีมูลค่าเงินลงทุน 430,670 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20

ภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนเปรียบเทียบปี 2562 และปี 2563

การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในปี 2563 

การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ในปี 2563 มีการขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 821 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และมีมูลค่าทั้งสิ้น 230,740 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น ทั้งนี้จำนวนโครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร ส่วนมูลค่าเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์มีเงินลงทุนสูงที่สุด 

คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำแนกตามอุตสาหกรรมเป้าหมายเปรียบเทียบปี 2562 และปี 2563

การขอรับส่งเสริมการลงทุนในโครงการใหม่และโครงการขยาย ในปี 2563

หากพิจารณาถึงคำขอรับการส่งเสริมตามลักษณะของการลงทุน พบว่าเป็นโครงการใหม่ 755 โครงการ สัดส่วนร้อยละ 44 ของจำนวนคำขอทั้งสิ้น และมีเงินลงทุนรวม 176,990 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 37 ของเงินลงทุนทั้งสิ้น และเป็นโครงการขยาย 962 โครงการ สัดส่วนร้อยละ 56 ของจำนวนคำขอทั้งสิ้น และมีเงินลงทุนรวม 304,160 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63 ของเงินลงทุนทั้งสิ้น ซึ่งมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการใหม่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 50

โครงการใหม่และโครงการขยายเปรียบเทียบปี 2562 และปี 2563

การขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ในปี 2563

คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปี 2563 เป็นโครงการใหม่ 406 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนคำขอจากต่างประเทศ เงินลงทุน 43,922 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และเป็นโครงการขยาย 501 โครงการ สัดส่วนร้อยละ 55 ของจำนวนคำขอจากต่างประเทศ และมีเงินลงทุน 169,2400 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 79 ของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในโครงการใหม่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 85 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศเปรียบเทียบปี 2562 และปี 2563

การกระจายสัดส่วนผู้ถือหุ้นของโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุนในปี 2563 

โครงการคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวน 724 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 42 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และมีเงินลงทุน 243,820 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ปกติโครงการ    คนไทยถือหุ้นทั้งสิ้นมีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 35 

โครงการต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวน 559 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และมีเงินลงทุน 109,180 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23 ของเงินลงทุนทั้งหมด 

โครงการร่วมลงทุนไทยและต่างชาติ มีจำนวน 434 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมทั้งหมด และมีเงินลงทุน 128,150 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของเงินลงทุนทั้งหมด

การกระจายสัดส่วนผู้ถือหุ้นเปรียบเทียบปี 2562 และปี 2563

ที่ตั้งโครงการลงทุน : การลงทุนกระจุกตัวในภาคกลางมากที่สุด

ในปี 2563 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคกลางมากที่สุด จำนวน 886 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 52 ของจำนวนโครงการทั้งหมด เงินลงทุน 144,140 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของเงินลงทุนทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นการขอรับการส่งเสริมในกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากกำหนดให้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563

การลงทุนในภาคตะวันออกมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 2 โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 513 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนโครงการทั้งหมด แต่มีเงินลงทุน   มากที่สุด โดยมีเงินลงทุน 223,130 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46 ของเงินลงทุนทั้งหมด

การกระจายของแหล่งที่ตั้งของโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเปรียบเทียบปี 2562 และปี 2563

หมายเหตุ: * กิจการที่ไม่มีที่ตั้งแน่นอน เช่น กิจการขนส่งทางอากาศ  กิจการขนส่งทางเรือ และกิจการขนส่งทางท่อ เป็นต้น

การขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล ในปี 2563 

เขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ พื้นที่ EEC มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 453 โครงการ เงินลงทุน 208,720 ล้านบาท

  • จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 52 โครงการ เงินลงทุน 25,660 ล้านบาท
  • จังหวัดชลบุรี จำนวน 226 โครงการ เงินลงทุน 67,190 ล้านบาท
  • จังหวัดระยอง จำนวน 175 โครงการ เงินลงทุน 115,870 ล้านบาท

เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 17 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 70 ในแง่ของมูลค่าการลงทุนมีมูลค่า 12,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 423

พื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน มีจำนวน 32 โครงการ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9  ในแง่ของมูลค่าการลงทุนมีมูลค่า 8,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13

นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริม มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในมีจำนวน 411 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1  ในแง่ของมูลค่าการลงทุน มีมูลค่า 184,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12

คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำแนกตามพื้นที่เป้าหมายเปรียบเทียบปี 2562 และปี 2563

การขอรับส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ 

มาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในปี 2563 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 281 โครงการ เงินลงทุน 21,840 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

  • การลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีคำขอรับการส่งเสริม 230 โครงการ เงินลงทุนรวม 17,010 ล้านบาท 
  • การลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีคำขอรับการส่งเสริม 48 โครงการ เงินลงทุนรวม 4,440 ล้าน
  • การลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีคำขอรับการส่งเสริม 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 390 ล้านบาท 
  • มาตรการส่งเสริม SMEs ในปี 2563 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 67 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20 เงินลงทุน 2,490 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1

คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษเปรียบเทียบปี 2562 และปี 2563

ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564

บีโอไอมีแนวทางส่งเสริมในกิจการที่ไทยมีศักยภาพ มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต พร้อมกับยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างของภาคการผลิตและบริการ เช่น อุตสาหกรรมในกลุ่ม BCG การแพทย์ อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดิจิทัล บริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ