เอเปค ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด, ไทยฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แนวคิด BCG Economy, การขนส่งสาธารณะสีเขียว Green Public Transportation

สศอ. หนุนอุตฯ ยานยนต์ ผ่านแนวคิด BCG Economy สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

อัปเดตล่าสุด 7 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 926 Reads   

สศอ. เสนอ 4 แนวนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า, นวัตกรรมแบตเตอรี่, ยานยนต์อัตโนมัติ, และการใช้ยานพาหนะร่วมกัน ผ่านแนวคิด BCG Economy ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แบบยั่งยืน มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมจัดการประชุม APEC Automotive Dialogue ครั้งที่ 36 พร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ความยั่งยืน เสนอสี่แนวทางสอดคล้องกับเป้าหมาย “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy หวังผลักดันนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี 2565 กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม APEC Automotive Dialogue (APEC AD) ครั้งที่ 36 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อติดตามสภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ และนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของสมาชิกเอเปค รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน์ (ECO System) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่ความยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอแนวทางการขนส่งสาธารณะสีเขียว (Green Public Transportation) ในประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักของไทยในการเป็นเจ้าภาพเอเปค “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สำหรับเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ควรผลักดัน ประกอบด้วย 1.การสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ผ่านนโยบายการสร้างแรงจูงใจและกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 2.การสนับสนุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่อย่างยั่งยืนผ่านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมในการผลิตแบตเตอรี่ที่ปลอดภัยและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อลดการใช้คาร์บอนในกระบวนการผลิต และใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด 3.การจัดทำกรอบนโยบายสำหรับยานยนต์อัตโนมัติ ผ่านการศึกษาในประเด็นการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และ 4.การผลักดันนโยบายการใช้ยานพาหนะร่วมกัน การใช้ยานพาหนะขนาดเล็ก และใช้การขนส่งสาธารณะ เพื่อลดปัญหาการจราจร อุบัติเหตุ และมลพิษทางอากาศ

สำหรับการดำเนินกิจกรรมของ APEC AD สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมและแนวคิดหลักของไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคปี 2565 รวมทั้งแนวทางการผลักดันนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนตามทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์และความต้องการของตลาดโลก ทั้งนี้ สศอ. และหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ความร่วมมือกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ในการขับเคลื่อนกิจกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH