มาตรการ CBAM กับผู้นำเข้าสินค้า 6 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม  ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ในช่วงวันที่ 1 ต.ค. 66 - 31 ธ.ค. 68 ต้องแจ้งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แจ้งเตือน "สินค้านำเข้า 7 กลุ่ม" ต้องซื้อใบรับรอง CBAM ของอียู ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69

อัปเดตล่าสุด 13 ก.ย. 2566
  • Share :
  • 35,054 Reads   

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ผนึกกำลังพันธมิตรจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจและรับฟังความเห็น เตรียมรับมือมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป (อียู) นำทีมผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ทั้งการเตรียมรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ข้อกังวลของภาคธุรกิจไทย ด้านอียูเตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลและให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการไทย ช่วงปลาย ก.ย.นี้  

วันที่ 5 กันยายน 2566 - นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาสร้างความรู้และรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรื่องมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ของสหภาพยุโรป (อียู) ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ว่า กรมได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง รับมือการออกประกาศใช้มาตรการ CBAM กับสินค้านำเข้า 7 กลุ่ม ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม  ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ บางรายการด้วย เช่น นอตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า และสายเคเบิลที่ทำจากอะลูมิเนียม) ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าว ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 31 ธันวาคม 2568 จะต้องแจ้งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้นำเข้าจะต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สินค้านำเข้า 6 กลุ่ม ต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ของอียู ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่ 1 ม.ค. 69

นางอรมน กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ กรมได้นำผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชน แลกเปลี่ยนมุมมองต่อการเตรียมรับมือมาตรการ CBAM ของอียู ทั้งการเตรียมรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การตรวจสอบรับรองการรายงานของภาคเอกชน โดยหน่วยงานสอบทาน (verification and accreditation) และข้อห่วงกังวลของภาคธุรกิจไทย อาทิ การรายงานข้อมูลที่อาจเป็นความลับด้านเทคโนโลยี ความพร้อมและสถานการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ โดยควรให้ความยืดหยุ่นกับประเทศกำลังพัฒนา และเพิ่มระยะเวลาในการรายงานและปรับแก้ข้อมูลมากขึ้น เนื่องจากการรายงานข้อมูลมีความซับซ้อนและมีหลักเกณฑ์การลงโทษสำหรับการรายงานข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งประเด็นที่ภาคธุรกิจไทยต้องการได้รับการสนับสนุนจากอียู เช่น การสนับสนุนทางเทคนิคเกี่ยวกับรายงานข้อมูลในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 3 ปีแรก การให้สามารถใช้ผู้ทวนสอบในไทย (local accredited verifiers) เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และทางเลือกการลดหย่อนภาระในการซื้อใบรับรอง CBAM หากได้มีการดำเนินการลดก๊าซฯ ในประเทศแล้ว เป็นต้น

ทั้งนี้ กรม อบก. และ สอท. จะรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะจากการสัมมนาครั้งนี้ ไปจัดทำแผนการทำงานต่อไป โดยเฉพาะการหารือกับอียู ซึ่งได้เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเรื่องนี้ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการไทยในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ เพื่อหาทางบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคเอกชนไทยให้ได้มากที่สุด

สำหรับผู้สนใจสามารถรับชมงานสัมมนาฯ ย้อนหลัง และร่วมแสดงความเห็นได้ที่ Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH