Toyota Yaris Ativ มาตรฐาน

ก.อุตฯ ถกด่วนบิ๊กโตโยต้า กรณีมาตรฐานชิ้นส่วน Yaris Ativ

อัปเดตล่าสุด 10 พ.ค. 2566
  • Share :
  • 1,363 Reads   

“ก.อุตฯ” ถกด่วน Chairman Toyota กรณีรถยนต์ Yaris Ativ ที่ใช้ทดสอบมาตรฐานการชนด้านข้าง ตรวจพบรอยบากตรงแผงด้านข้างประตูฝั่งคนขับ สั่งทีมผู้เชี่ยวชาญลงตรวจสอบชิ้นส่วนที่โรงงานเกตเวย์ภายในสัปดาห์นี้!

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของ นายอากิโอะ โตโยดะ (Mr.Akio Toyoda) ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น รวมถึง เจ้าหน้าที่บริหารพื้นภาคเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 เพื่อชี้แจงกรณีรถยนต์ Yaris Ativ (ยาริส เอทีฟ) ที่ใช้ทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยในการปกป้องผู้ขับขี่จากการชนด้านข้างตามมาตรฐาน UN R95 (Protection of the Occupants in the event of a Lateral Collision) ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ได้ตรวจพบความไม่สมบูรณ์ของรถยนต์ที่ใช้ทดสอบว่ามีรอยบากบริเวณด้านข้างแผงประตูรถยนต์ฝั่งคนขับ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนนำรถไปทดสอบตามมาตรฐาน UN R95 ว่า จากการหารือร่วมกัน ได้รับทราบถึงความเสียใจของบริษัทฯ ที่ทำให้ผู้บริโภคคนไทยเกิดความไม่มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยในรถยนต์ Yaris Ativ เนื่องจากโตโยต้าเป็นแบรนด์ใหญ่ที่คนไทยรู้จัก และได้รับความนิยมเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องขอชื่นชมบริษัท โตโยต้าฯ ซึ่งได้ตรวจพบความไม่สมบูรณ์ของรถทดสอบ แล้วรีบแจ้งให้ผู้บริโภคคนไทยทราบในทันที รวมทั้งได้ส่งรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายจริงในประเทศ ไปทำการทดสอบยืนยันที่ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ารถยนต์

Yaris Ativ ผ่านการทดสอบมาตรฐานการชนด้านข้าง และได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่มีอำนาจในการตรวจสอบมาตรฐานแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติด้านความปลอดภัยของรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รุ่นที่ 2 (ECO Car 2) ตามข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งต้องผ่านการทดสอบคุณสมบัติในด้าน “สะอาด ประหยัด ปลอดภัย” ตามมาตรฐานสากล โดยบริษัท โตโยต้าฯ ได้ยื่นผลทดสอบที่ผ่านตามมาตรฐานการชนด้านข้าง UN R95 ที่ออกโดยหน่วยทดสอบที่เป็นสากล ให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาต่อไปแล้ว

ดร. ณัฐพลฯ กล่าวว่า มาตรฐานด้านความปลอดภัยมีความสำคัญต่อประชาชนผู้ใช้รถยนต์ จึงกำหนดเป็นคุณสมบัติหนึ่งของโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) อยู่ระหว่างการดำเนินงานออกประกาศกำหนดให้คุณสมบัติในการป้องกันผู้โดยสารกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุการชนด้านข้าง (UN R95) และคุณสมบัติในการป้องกันผู้โดยสารกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุการชนด้านหน้า (UN R94) ให้เป็นมาตรฐานบังคับสำหรับรถยนต์นั่งทุกประเภท รวมทั้ง อยู่ระหว่างการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทดสอบมาตรฐานด้านหน้าและด้านข้าง เพื่อให้บริการทดสอบที่ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา

"นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำการตรวจสอบผลทดสอบและเอกสารรับรอง (Certification) ของมาตรฐานการชนด้านข้าง (UN R95) แล้ว ยังได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ไปตรวจสอบชิ้นส่วนแผงด้านข้างประตูรถยนต์ฝั่งคนขับ และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ณ โรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้า ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายในสัปดาห์นี้อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยมั่นใจได้ว่า รถยนต์ Yaris Ativ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย รวมทั้งมีการใช้ชิ้นส่วนหรือใช้วัสดุสำหรับผลิตชิ้นส่วนเช่นเดียวกับรถยนต์ที่ออกแบบไว้ทุกประการ หลังจากนั้น บริษัท โตโยต้าฯ จะกลับมาผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าวเพื่อจำหน่ายและส่งมอบให้กับผู้บริโภคชาวไทยได้ต่อไป" ดร.ณัฐพลกล่าว

ด้านนายอากิโอะ โตโยดะ (Mr.Akio Toyoda) ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทโตโยต้าขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งบริษัทมีกระบวนการในการปฏิบัติก่อนส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้า และการตรวจสอบมาตรฐานดังกล่าว เป็นกลไกหนึ่งของมาตรฐานโตโยต้า เมื่อเราพบกับปัญหาดังกล่าว บริษัทฯ ได้หยุดจำหน่ายและทำการทดสอบยืนยันอีกครั้ง เพื่อความ

มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัย ผมขอยืนยันว่า กรณีนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องความปลอดภัย และคุณภาพของรถยนต์ แต่เป็นส่วนของการรับรองมาตรฐานที่พบความไม่เหมาะสมของการทดสอบ ทั้งนี้ ความไม่เหมาะสมดังกล่าว ทางบริษัท ไดฮัทสุ เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาตัวถังและการขอใบรับรอง ได้ดำเนินการทดสอบกันชนด้านข้างอีกครั้ง ณ ห้องทดสอบประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยขอยืนยันว่าการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนด UN-R95 ทั้งหมด

ทั้งนี้ การทดสอบการชนด้านข้างตาม UN R95 จะทำการทดสอบโดยนำรถยนต์ทดสอบจอดอยู่นิ่งไว้ แล้วใช้แท่งน้ำหนัก (Barrier) เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พุ่งเข้าชนรถยนต์ทดสอบ โดยภายหลังการชน จะมีการตรวจวัดแรงกระแทกจากการชนไปยังคนขับหรือหุ่นทดสอบ (Dummy) ตรงบริเวณหัว ทรวงอก กระดูกเชิงกรานและท้องว่า มีค่าเท่าไร โดยต้องไม่เกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด รวมทั้ง มีการตรวจสอบสภาพของรถหลังถูกชนว่า พบการรั่วไหลของของเหลวหรือไม่ มีการเสียรูปของอุปกรณ์ภายในรถยนต์ที่เป็นอันตรายต่อผู้โดยสารหรือไม่ และประตูรถฝั่งตรงข้ามคนขับต้องสามารถเปิดได้โดยไม่มีการใช้อุปกรณ์ใดช่วยเพื่อนำผู้โดยสารออกมาได้อย่างปลอดภัย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH