สศอ. เร่งทำแผนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ชี้การลงนาม MOU 3 หน่วยงานเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนา

สศอ. เร่งแผนพัฒนาอุตฯ เครื่องมือแพทย์ ร่วมลงนาม MOU 3 หน่วยงาน

อัปเดตล่าสุด 13 ส.ค. 2563
  • Share :

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งจัดทำแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ขยายตัว มุ่งผลิตสำหรับใช้ภายในประเทศและลดการนำเข้าหลังโควิด-19 ส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ระหว่าง 3 หน่วยงานจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมได้เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) เพื่อรองรับความต้องการที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจะส่งเสริมและผลักดันมาตรการด้านการวิจัยและพัฒนา การผลิต การลงทุน การตลาด รวมถึงปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ทั้งนี้ จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นและไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศ จึงจำเป็นจะต้องยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้สามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ในประเทศและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชน
 
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระหว่าง 3 องค์กร ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กับสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย และ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เป็นครั้งแรกที่จะได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลในฐานะผู้ที่มีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์และต้องการใช้งานจริง และจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการแพทย์ (Smart Medical) ซึ่งจะมีการประยุกต์ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยเทียบเท่าระดับสากล เช่น Continuous Positive Airway Pressure : CPAP หรือเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกที่ใช้สำหรับรักษาอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยที่มีสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้ทดสอบความปลอดภัยทั้งด้านการทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และการประสานกับทางองค์การอาหารและยา (อย.)
 
"อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปี  ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558-2562) โดยมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 4.09 ทั้งนี้ สถานการณ์โควิดได้เร่งให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศมีการลงทุนเพิ่มในอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ขาดแคลน เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยาง เร่งการพัฒนานวัตกรรมและความร่วมมือของในหน่วยงานสังกัดมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน โดยมีการนำผลการวิจัยด้านอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศมาใช้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก นับเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาอุตสาหกรรมช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยสามารถในการบรรลุเป้าหมายอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์อย่างยั่งยืน" นายทองชัย กล่าว


อ่านต่อ:
“เครื่องมือแพทย์” ตัวเลือกระดับ “ยูนิคอร์น” ที่คุ้มค่าต่อการลงทุน และรอคอย