แผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี 2565 – 2566

เปิด 'แผนเกษตรอัจฉริยะ' ปี 2565-2566 เน้นทำน้อยได้มาก

อัปเดตล่าสุด 8 ต.ค. 2564
  • Share :
  • 3,686 Reads   

เปิดตัวแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี 2565 – 2566 มุ่งเน้นการทำเกษตรแบบทำน้อยได้มาก ใช้ทรัพยากรในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุน ลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายและเปิดตัวแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ปี พ.ศ. 2565 – 2566 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล (zoom meeting) จากห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า จากนโยบาย Thailand 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ได้กำหนดให้มีแผนแม่บทด้านการเกษตรและแผนย่อยเกษตรอัจฉริยะ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายการขับเคลื่อนงานด้านเกษตรอัจฉริยะ ที่มุ่งหวังยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ปรับรูปแบบการเกษตรในปัจจุบันให้มุ่งสู่เกษตร 4.0 โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาสู่การเกษตรอัจฉริยะแห่งอนาคต มีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งเน้นให้เกิดการทำเกษตรแบบทำน้อยได้มาก ใช้ทรัพยากรในการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการลดต้นทุน ลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น ลดความเหนื่อยยากของการใช้แรงงานในภาคการเกษตร มีการนำเอาเครื่องมือจักรกลและเครื่องมือทันสมัย โดยเฉพาะการนำเกษตรดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและการแข่งขันของภาคการเกษตรไทยในตลาดโลก

สำหรับแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะที่จัดทำขึ้นนี้ จะเป็นแผนปฏิบัติการที่ช่วยกำหนดทิศทางการเกษตรอัจฉริยะและเป็นการวางรากฐานการเกษตรอัจฉริยะของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร สามารถนำกรอบข้อเสนอโครงการที่จัดทำไว้ ภายใต้แผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะฉบับนี้ไปปรับใช้เป็นข้อเสนอโครงการในหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของประเทศ นอกจากนี้ ยังเร่งพัฒนาบุคลากรในหน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคให้มีความพร้อมทั้งด้านวิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐและเกษตรกร สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และช่วยเป็นครูผู้ฝึกหรือเทรนเนอร์ ให้แก่เกษตรกร โดยมุ่งเน้นทั้ง Smart Farmer และ Young Smart Farmer ตลอดจนผู้นำเกษตรกรของ ศพก. และแปลงใหญ่ ทั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในทุก ๆ จังหวัดของประเทศ และให้เข้าถึงทุกอำเภอภายใน 3 ปี เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติด้านการเกษตรต่อไป
    
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 กล่าวว่า ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคการเกษตรของประเทศไทย ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 ขึ้น มีองค์ประกอบอนุกรรมการ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech 2) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ 3) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน E-commerce และ 4) คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยอาศัยเทคโนโลยี นวัตกรรม และการตลาด เข้ามาช่วยขับเคลื่อนดำเนินการมุ่งสู่เกษตร 4.0
    
ด้าน ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สานต่อการทำงานด้านเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิเช่น การขับเคลื่อนการจัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ การพัฒนา IoTs Platform การรวบรวม Innovation list ด้านเทคโนโลยี/องค์ความรู้ จากศูนย์ AIC 76 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจัดทำ Innovation Catalog และหนึ่งในภารกิจสำคัญ คือ การจัดทำแผนปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี พ.ศ. 2565 - 2566 โดยกระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับผู้แทนของหน่วยงานภายนอกกว่า 200 คน ทั้งจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์ AIC ศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร Smart Farmer และ Young Smart Farmer ร่วมระดมสมองในการจัดทำแผนปฏิบัติการและร่วมจัดทำกรอบข้อเสนอโครงการ ปี พ.ศ. 2565 - 2566 จำนวน 63 โครงการ ภายใต้ 18 แผนงาน 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างการรับรู้ เข้าถึง ใช้ประโยชน์ และการส่งเสริมขยายผลเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะ แปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาการแปรรูปและการตลาดเกษตรอัจฉริยะ ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการบริหารจัดการเกษตรอัจฉริยะ และ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายเกษตรอัจฉริยะ “กระทรวงเกษตรฯ พร้อมขานรับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยจะมีการติดตามการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญ และการแก้ไขภาคการเกษตร” ดร.ทองเปลว กล่าว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH