ทดสอบชิ้นส่วนเครื่องบิน, บริการทดสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เครื่องบิน

PTEC สวทช. เปิดบริการทดสอบชิ้นส่วนเครื่องบิน หนุนมาตรฐานความปลอดภัย ยกระดับอุตสาหกรรมการบิน

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ค. 2566
  • Share :
  • 1,460 Reads   

ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. เปิดให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ด้านชิ้นส่วนเครื่องบิน คุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และ RTCA-DO160 หลายรายการ หนุนมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินประเทศไทย เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบินสู่นานาชาติ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้การต้อนรับ นายศรัณย เบ็ญจนิรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT (The Civil Aviation Authority of Thailand) และคณะจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมกว่า 70 คน เข้าเยี่ยมชมศักยภาพความพร้อมบริการทดสอบด้านการบินของศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC)  สวทช.

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า มีความยินดีที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ร่วมกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)  ได้ให้ความสำคัญมาเยี่ยมชมความพร้อมด้านการบริการทดสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์การบิน ของศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. โดยที่ผ่านมา สวทช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญด้านมาตรฐานจึงมีนโยบายในการพัฒนา “โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ” (National Quality Infrastructure: NQI) โดย PTEC  มีศักยภาพและความพร้อม การปฏิบัติงานทดสอบ สอบเทียบ ตรวจสอบ และรับรองผลิตภัณฑ์บริการทดสอบ ภาคอุตสาหกรรมการบินด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์การบิน , อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และ ระบบขนส่งทางราง ฯลฯ

ทั้งนี้ปัจจุบัน  PTEC ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบด้านชิ้นส่วนเครื่องบิน โดยได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และตามมาตรฐาน RTCA-DO160 เรียบร้อยแล้วหลายรายการ และมีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางในการให้บริการทดสอบชิ้นส่วนการบินตามมาตรฐานสากลในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

นอกจากผลิตภัณฑ์ในระบบการบินแล้ว PTEC ยังได้รับการยอมรับให้เป็นหน่วยทดสอบผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ จากหน่วยงานควบคุมของภาครัฐเช่น กสทช. สมอ. อย. เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อการผลิต การส่งออก ผลักดันเศรษฐกิจและการทดสอบเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศให้ได้ใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าที่ปลอดภัยอีกด้วย

ทดสอบชิ้นส่วนเครื่องบิน, บริการทดสอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เครื่องบิน

คณะ ICAO และ CAAT เยี่ยมชมศักยภาพความพร้อมบริการทดสอบด้านการบิน PTEC สวทช.

สำหรับในการเยี่ยมชมครั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ร่วมกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้เยี่ยมชมห้องปฎิบัติการทดสอบของ สวทช. หลายห้องปฏิบัติการ อาทิ

1 การทดสอบด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์การบิน ตามมาตรฐาน RTCA-DO 160 และ MIL – STD 461 ซึ่งเป็นการวัดสัญญาณรบกวนที่แพร่ออกจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์การบินชิ้นนั้นแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกไปรบกวนอุปกรณ์ในเครื่องบินอื่น ๆ ที่ถูกติดตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน

2 การทดสอบภูมิคุ้มกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic immunity) ของอุปกรณ์ชิ้นส่วนการบิน จากการนำชิ้นส่วนการบินใหม่ ๆ ไปติดตั้งอยู่ในบริเวณที่มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่ใช้งานอยู่เดิม หรือความสามารถในการต้านทานสัญญาณรบกวนอื่น ๆ ในสนามบินที่แพร่ออกมารบกวนการทำงานของชิ้นส่วนการบินที่ถูกนำไปติดตั้งใหม่ เช่น เรดาห์ สถานีวิทยุ ป้ายไฟในสนามบิน ฯลฯ

3 การทดสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่แพ็ค (Battery Pack) เพื่อขนส่งตามมาตรฐานของสหประชาชาติหรือ UN 38.3 เนื่องจากแบตเตอรี่ถือเป็นวัตถุอันตราย (dangerous goods) ดังนั้นการขนส่งแบตเตอรี่ผ่านทางเส้นทาง ถนน เรือ เครื่องบิน ต้องได้รับการอนุญาตตามกฎหมายเสียก่อน โดยจะต้องทำการทดสอบในหลายหัวข้อ เช่น การทดสอบการสั่นและการกระแทก (shock and vibration test) การจำลองการตก (drop test) การทดสอบ Mechanical Integrity (crush test) การทดสอบการบีบอัด (crush test)

4 การทดสอบผลิตภัณฑ์เพื่อการขนส่งที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน UL 2580 เป็นการทดสอบโดยจำลองสภาวะการวางของผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ ในทิศทางต่างๆ เช่น แนวตั้ง แนวนอน แนวเอียงมุม และสังเกตความสามารถในการทรงตัวบนพาหนะ ในขณะทำการขนส่งทางบก เรือ อากาศ รถไฟฯ

5 การทดสอบความสามารถในการป้องกันการลัดวงจรแบตเตอรี่ (Battery short circuit) ขณะทำการขนส่งที่อาจทำให้ขั้วไฟฟ้าบวกและลบของแบตเตอรี่สัมผัสกัน และอาจทำให้เกิดการติดไฟหรือเกิดการระเบิดได้ตามมาตรฐาน UN 38.3

6 การทดสอบการต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศในเครื่องบิน ที่ระดับความสูงและอุณหภูมิต่างๆ ตามมาตรฐาน RTCA-DO 160 MIL-STD810 และการทดสอบบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำการขนส่งทางเครื่องบิน

7 การทดสอบการป้องกันการปะทุไฟและการระเบิด (Explosive proof) ของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า เช่น โคมไฟ มอเตอร์ พัดลม ขั้วต่อต่างๆ ที่ติดตั้งในบริเวณ คลังน้ำมัน สถานีปั๊มน้ำมัน สถานีแก๊สฯ ตามมาตรฐาน IEC EX EX-d และ ATEX เมื่อเกิดการลัดวงจรภายใน จะไม่ทำให้ไอแก๊สบริเวณรอบเกิดการปะทุไฟหรือระเบิด

8 การวัดระดับความแรงสนามแม่เหล็กของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ขณะทำการขนส่งบนเครื่อง ซึ่งแพร่สนามแม่เหล็กออกไปรบกวนระบบเข็มทิศนำร่องของเครื่องบิน ตามมาตรฐาน IATA 953

9 การทดสอบการอ่านพาสปอร์ตเดินทาง บัตรโดยสาร สมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี Near Field Communication (NFC) ซึ่งหลายประเทศนำไปใช้งาน เนื่องจากสามารถใช้เครื่องโทรศัพท์ส่วนบุคคลทำการอ่านข้อมูลและใช้แสดงตัวตนได้

ที่ผ่านมา สวทช. ได้ลงนามความร่วมมือกับ กพท. เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการบินในประเทศให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานในระดับสากล และพัฒนาผู้ประกอบการในประเทศเพื่อการรับจ้างผลิตจากบริษัทการบินขนาดใหญ่ระดับโลกเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ PTEC ยังให้บริการทดสอบคลื่นความถี่การใช้งานของผลิตภัณฑ์ประเภทโดรน UAV และอากาศยานน้ำหนักเบา ก่อนการขออนุญาตการใช้งานคลื่นความถี่ควบคุมจาก กสทช. อีกด้วย โดยมาตรฐานที่ให้บริการ ประกอบด้วย RTCA-DO 160 UN38.3 และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายการ

สำหรับอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนการบิน ผู้ซ่อมบำรุง ผู้ติดตั้งระบบการบินในสนามบิน ที่สนใจพัฒนาผลิตภัณฑ์ สามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่ 0 2117 8600 อีเมล [email protected]

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH