สมอ. ออกมาตรฐาน มอก. อะแดปเตอร์ - เครื่องทอดน้ำมันท่วมเชิงพาณิชย์
สมอ. คุมเข้มอะแดปเตอร์สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และเครื่องทอดโดนัทเชิงพาณิชย์ และเครื่องทอดน้ำมันท่วมเชิงพาณิชย์ ต้องได้มาตรฐาน เตือนผู้ผลิตและผู้นำเข้าให้ยื่นขอ มอก. ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้
วันที่ 6 เมษายน 2566 นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ด้วยการบังคับใช้มาตรฐานสินค้าต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าที่ สมอ. ควบคุม จำนวน 141 รายการ และที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ อีก 2 รายการ ได้แก่ อะแดปเตอร์สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และเครื่องทอดโดนัทเชิงพาณิชย์ และเครื่องทอดน้ำมันท่วมเชิงพาณิชย์ ซึ่งทั้ง 2 รายการเป็นสินค้าที่นิยมใช้งานกันอย่างแพร่หลาย หากไม่ได้มาตรฐานอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้งานได้ สมอ. จึงต้องควบคุมให้ผลิตและนำเข้าเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน มอก. เท่านั้น
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐาน มอก.62368 เล่ม 1-2563 เครื่องจ่ายไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “อะแดปเตอร์” สมอ. ได้นำมาตรฐานของ IEC (International Electrotechnical Commission) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับมาประกาศใช้เป็นมาตรฐาน มอก. โดยมีข้อกำหนดที่สำคัญ เช่น การป้องกันการเกิดไฟฟ้ารั่ว ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ได้รับอันตรายขณะใช้งาน การป้องกันการลุกไหม้ และการป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดจากความร้อน เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
สำหรับมาตรฐาน มอก.60335 เล่ม 2 (37)-2564 เครื่องทอดโดนัทเชิงพาณิชย์ และเครื่องทอดน้ำมันท่วมเชิงพาณิชย์ เป็นมาตรฐานที่ควบคุมความปลอดภัยของเครื่องทอดที่ทำงานด้วยไฟฟ้าที่ใช้ในภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงอาหาร และโรงพยาบาล ซึ่งใช้ทอดอาหารในปริมาณมาก ไม่ใช่เครื่องทอดที่ใช้ในที่อยู่อาศัยของประชาชนทั่วไป รวมถึงเครื่องทอดชนิดที่มีความดันไม่เกิน 50 kPa (Kilopascal) มีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 480 โวลต์ โดยมีข้อกำหนดสำคัญที่ควบคุมด้านความปลอดภัย เช่น การควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินในขณะใช้งาน มีการป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วในขณะที่เครื่องทอดทำงานอยู่ รวมไปถึงการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่ระมัดระวังของผู้ใช้งาน เช่น การป้องกันการสัมผัสกับส่วนที่มีไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งมาตรฐานนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าสินค้าทั้ง 2 รายการดังกล่าว จะต้องทำ นำเข้าสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องขายสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย สมอ. จึงได้จัดการสัมมนาขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ได้มีความรู้ความเข้าใจในการยื่นขอรับใบอนุญาต มอก. ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งมีความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดในมาตรฐาน และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการตรวจติดตามภายหลังการได้รับใบอนุญาต ซึ่งมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้กว่า 300 ราย เลขาธิการ สมอ.กล่าว
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH