3 ประเทศ ลงนาม APMRA ข้อตกลงฯ  ผลิตภัณฑ์ยานยนต์อาเซียน หนุนส่งออกยานยนต์ไทย-อาเซียน

3 ประเทศ ลงนามข้อตกลงฯ ผลิตภัณฑ์ยานยนต์อาเซียนฉลุย หนุนส่งออกยานยนต์ไทย-อาเซียน

อัปเดตล่าสุด 10 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 659 Reads   

ไทย-บรูไนฯ-สิงคโปร์ ลงนามข้อตกลงยอมรับร่วมฯ ด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (APMRA) ผ่านช่องทางการทูต ซึ่งไทยผลักดันไว้ในฐานะประธานอาเซียนเมื่อปี 2562 คาดลงนามครบ 10 ประเทศปลายปีนี้ ชี้! APMRA จะช่วยส่งเสริมการค้ายานยนต์ รวมทั้งสร้างตลาดและฐานการผลิตร่วมกันในภูมิภาคอาเซียนและลดระยะเวลาและขั้นตอนการส่งออกให้ผู้ประกอบการไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้ลงนามข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียน (ASEAN MRA on Type Approval for Automotive Products: ASEAN APMRA) ผ่านช่องทางทางการทูต ซึ่งเป็นข้อตกลงยอมรับร่วมฯ ที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนปีที่ผ่านมาได้ผลักดัน จนสมาชิกอาเซียนสามารถสรุปผลการเจรจาได้ หลังจากเริ่มการเจรจามาตั้งแต่ปี 2552 ทั้งนี้ ประเทศที่ร่วมลงนามแล้ว ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม สิงคโปร์ และไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเวียนให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่เหลือลงนาม ซึ่งคาดว่าจะลงนามครบทั้ง 10 ประเทศภายในปลายปีนี้

APMRA กำหนดให้ประเทศสมาชิกยอมรับผลการทดสอบที่ออกโดยหน่วยให้บริการทางเทคนิคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและรับรองว่าจะไม่กำหนดให้มีการทดสอบซ้ำ (Retesting) ชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ ระบบยานยนต์ และส่วนที่ติดกับรถยนต์ ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามสะดวกขึ้นจากข้อกำหนดเกี่ยวกับการผลิต ประกอบ นำเข้า และบริการรับประกันและบำรุงรักษารถยนต์ของเวียดนามตามกฤษฎีกาฉบับที่ 116 และกฤษฎีกาฉบับที่ 17 ซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการไทยประสบอยู่ ทั้งนี้ กรมฯ ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านเวทีระดับทวิภาคีและการเจรจาในกรอบอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 กระทรวงคมนาคมและการขนส่งของเวียดนามได้ออกประกาศยอมรับใบรับรองเพิ่มเติมสำหรับการตรวจสอบรถยนต์และชิ้นส่วนตามกฤษฎีกา 17/2020 ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอนุญาตให้หน่วยงาน Vietnam Register ยอมรับใบรับรองต่าง ๆ แทนการประเมิน COP ดังนี้ 1.โรงงานผลิตรถยนต์ในต่างประเทศ สามารถใช้มาตรฐาน IATF 16949 หรือ ISO 9001เป็นหลักฐานแทนได้ 2.โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในต่างประเทศ สามารถใช้มาตรฐาน IATF 16949 เป็นหลักฐานแทนได้และ 3.สำหรับการประเมิน COP ในโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ในต่างประเทศจะดำเนินการภายใน 6 เดือนนับจากวันที่เวียดนามและประเทศผู้ส่งออกรถประกาศยุติสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

การจัดทำ APMRA ถือเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้ายานยนต์ระหว่างกันในอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการยอมรับร่วมด้านมาตรฐานการตรวจสอบรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ของอาเซียนและเพิ่มสมรรถนะของหน่วยงานทดสอบภายในอาเซียน ช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทยให้สามารถขยายการส่งออกไปอาเซียนได้เพิ่มขึ้นตลอดจนสร้างตลาดและฐานการผลิตร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับในปี 2562 ไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 8,364 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 2,234 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 3,671 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 1,066 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญในอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและมาเลเซีย สินค้าส่งออกสำคัญคือ รถยนต์สำหรับขนส่ง และรถยนต์ส่วนบุคคล

 

อ่านต่อ: