ก้าวแห่งความสำเร็จขององค์กรไทย สู่การคว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ ประจำปี 2563

ก้าวแห่งความสำเร็จ 8 องค์กรไทย คว้ารางวัลคุณภาพปี 2563

อัปเดตล่าสุด 8 ก.พ. 2564
  • Share :
  • 730 Reads   

​เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติได้จัดงานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติขึ้น เพื่อประกาศรายชื่อองค์กรไทยจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จจากความพยายามในการมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการ จนสามารถคว้ารางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านลูกค้า บุคลากร การปฏิบัติการ หรือนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus: TQC Plus) และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) ประจำปี 2563 ได้ดั่งที่ตั้งใจ ท่ามกลางบรรยากาศของความภาคภูมิใจจากเหล่าผู้บริหารองค์กร และบุคลากรที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ณ ห้องบอลรูม 2 ชั้น 4 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

งานแถลงข่าวผลรางวัลคุณภาพแห่งชาติในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มาร่วมเป็นประธาน และกล่าวถึงรางวัลคุณภาพแห่งชาติในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถขององค์กรไทยอย่างยั่งยืน โดยทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ยกระดับการบริหารจัดการ สร้างสรรค์คุณค่า และเพิ่มผลิตภาพการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต หรือการบริการ รวมทั้งการเพิ่มผลิตภาพในภาคการศึกษา และภาครัฐวิสาหกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาประเทศ รวมทั้งภาครัฐที่ทำหน้าที่สนับสนุนให้การดำเนินกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจก้าวต่อไปได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้ ยังได้กล่าวแสดงความยินดีต่อองค์กรที่ได้รับรางวัล พร้อมเน้นย้ำถึงการเป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่จะนำพาประเทศให้เกิดความเข้มแข็ง และก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนต่อไป

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี  รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ตามด้วยการประกาศรายชื่อองค์กรที่ได้รับรางวัล ประจำปี 2563 โดย นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 8 องค์กร ได้แก่ 

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่

  • ธนาคารออมสิน (ธนาคารออมสิน เคยได้รับรางวัล TQC Plus: Operation ในปี 2562, รางวัล TQC Plus: Customer ในปี 2561 และรางวัล TQC ในปี 2560)

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม (Thailand Quality Class Plus: Innovation) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่

  • กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศที่มีความโดดเด่นด้านการปฏิบัติการ (Thailand Quality Class Plus: Operation) จำนวน 1 องค์กร ได้แก่

  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

รางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class) จำนวน 5 องค์กร ได้แก่

  • กลุ่มธุรกิจการตลาด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
  • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
  • บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ยังกล่าวถึงผลลัพธ์และกลยุทธ์ในการสนับสนุนให้รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับองค์กรไทยให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และยืนหยัดท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน รางวัลคุณภาพแห่งชาติจึงเป็นเครื่องมือสำหรับองค์กรที่มีความมุ่งมั่น และไม่หยุดพัฒนาตนเอง ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอกจะเป็นเช่นไร 

ผศ.ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ผศ.ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ

ด้าน ผศ.ดร.อธิศานต์ วายุภาพ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ยังได้กล่าวรายงานถึงบทบาทและการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ ในปี 2563-2564 ว่า “ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA)  ได้ถูกนำไปใช้ในภาคส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการ การศึกษา สาธารณสุข และภาคราชการ และถูกนำไปใช้เป็นรากฐานและต้นแบบในการพัฒนาเกณฑ์รางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ รางวัลสุดยอด SME แห่งชาติ (SME National Awards)”

ทั้งนี้ ผศ.ดร.อธิศานต์ ยังกล่าวถึงผลการศึกษาของผลการดำเนินโครงการในที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าองค์กรที่ได้นำเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติไปปรับใช้ จนได้รับรางวัลคุณภาพแห่งชาติ และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ มีอัตราการเติบโตของด้านนวัตกรรมที่เกิดขึ้นภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง และจำนวนการยื่นขอรับสิทธิบัตรขององค์กรเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรที่ได้รับรางวัลมีการให้ความสำคัญ มีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ผ่านการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในองค์กรมากขึ้น หากมีองค์กรที่บริหารจัดการเพื่อให้เกิดนวัตกรรมมากยิ่งขึ้นเท่าใด ย่อมส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้มากขึ้นเช่นกัน 

รางวัลคุณภาพแห่งชาติ จึงไม่หยุดมุ่งมั่นที่จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถ และยกระดับผลิตภาพในทุกภาคส่วน พร้อมตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ และขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจต่อไปในระดับสากล

 

อ่านต่อ: