"เอ็นไอเอ" เตรียมปั้นดีพเทคสตาร์ทอัพรองรับอุตสาหกรรมอวกาศ ตั้งเป้า 3 ปี ไทยต้องมีธุรกิจสตาร์ทอัพสายอวกาศ

"เอ็นไอเอ" เตรียมปั้นดีพเทคสตาร์ทอัพรองรับอุตสาหกรรมอวกาศ ตั้งเป้า 3 ปี ไทยต้องมีธุรกิจสตาร์ทอัพสายอวกาศ

อัปเดตล่าสุด 8 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 712 Reads   

♦ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) หนึ่งใน “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” (Thai Space Consortium : TSC) เตรียมส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้หันมาทำธุรกิจอวกาศ ผ่าน “โครงการ Space Economy: Lifting Off 2021”

♦ ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี สร้างดีพเทคสตาร์ทอัพ 100 ราย และหนึ่งในนั้นจะต้องมีสตาร์ทอัพด้านอวกาศอย่างน้อย 12-15 ราย

Advertisement

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เดินหน้าใช้เทคโนโลยีอวกาศขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพื่อเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หนึ่งใน “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” (Thai Space Consortium : TSC) เตรียมเดินหน้าส่งเสริมผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้หันมาทำธุรกิจอวกาศมากขึ้นผ่าน “โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ Space Economy: Lifting Off 2021” เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจอาวกาศที่คาดว่าในอนาคตจะมีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 3 ปี จะต้องสามารถสร้างดีพเทคสตาร์ทอัพได้ 100 ราย และหนึ่งในนั้นจะต้องมีสตาร์ทอัพด้านอวกาศอย่างน้อย 12-15 ราย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อเนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจภาคีเครือข่ายความร่วมมืออวกาศไทย:Thai Space Consortium: TSC” ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจอาวกาศถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีของไทยมีความก้าวหน้า ถือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดว่าประเทศไทยได้มีการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่สิ่งงเหล่านี้จะช่วยให้ไทยหลุดพ้นจากการประเทศรายได้ปานกลางได้  

อย่างไรก็ตามมีการประมาณการว่าในปี 2040 เศรษฐกิจอวกาศจะมีมูลค่ามหาศาล ที่ประเทศไทยจะต้องมุ่งเน้นการลงทุนไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านการสร้างดาวเทียม หรือยานอวกาศให้เกิดขึ้นจริง รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ โดย อว. วางเป้าหมายว่า ภายใน 7 ปี จะต้องส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์  ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศกว่า 10 หน่วยงาน เช่น สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)  สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) สถาบันแสงซินโครตอน (องค์การมหาชน) สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี สุรนารี ฯลฯ

ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA  กล่าวว่า NIA ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้โดยมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมด้านอวกาศของไทย โดยอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพ และเครือข่ายที่มีอยู่ เพื่อพัฒนาบุคลากรและนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นมาสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมอวกาศของไทย ตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศไปพัฒนาประเทศอย่างแท้จริงโดยเฉพาะการพัฒนาต่อยอดธุรกิจ ตลาด และห่วงโซ่อุปทานของเศรษฐกิจอวกาศ รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอวกาศเพื่อให้เกิดการลงทุน เนื่องจากในอนาคตเศรษฐกิจอวกาศจะมีมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท และจะมีความต้องการสูงมากยิ่งขึ้น เพราะแน่นอนว่าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศไม่ได้มีแค่เฉพาะเรื่องของการส่งดาวเทียม หรือการส่งยานอวกาศเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีสำหรับปล่อยยานอวกาศ การพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัย เช่น การประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง วัสดุขั้นสูง รวมไปถึงการต่อยอดในการนำเอาเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นด้วย

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า จากความร่วมมือดังกล่าว NIA จึงมุ่งส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความสามารถทางด้านนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอวกาศและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และสามารถเข้าถึงแหล่งทุนนวัตกรรม โดยได้ริเริ่มกิจกรรมบ่มเพาะ “โครงการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศ ภายใต้ชื่อ Space Economy: Lifting Off 2021” ขึ้น ในรูปแบบ “Co-creation” คือ เน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ร่วมทำงานจริงกับหน่วยงานพันธมิตรและนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจ ทุกทีมจะได้ลงมือทำงานกับผู้มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอวกาศ รวมถึงได้รับการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ โดยจะคัดเลือกสตาร์ทอัพจำนวน 10 ราย ซึ่งผู้สนใจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอวกาศ แต่ต้องมีแนวคิดที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรม มีทีมงานและเทคโนโลยีพื้นฐานที่พร้อมจะพัฒนาต่อยอดสู่เทคโนโลยีด้านอวกาศได้ โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสได้นำเสนอผลงานกับนักลงทุนที่มีความสนใจลงทุนในเทคโนโลยีเชิงลึกและบริษัทที่มีความสนใจในอุตสาหกรรมอวกาศหรือมีความต้องการนำเทคโนโลยีอวกาศไปประยุกต์ต่อยอดในอุตสาหกรรมอื่น รวมถึงการสร้างให้เกิดเป็นเครือข่ายประชาคม (community) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่จะร่วมกันสนับสนุนและผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านเศรษฐกิจอวกาศขึ้นในประเทศไทย

“เป้าหมายสำคัญของ NIA คือการส่งเสริมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ในการทำซอฟต์แวร์อยู่แล้วให้มีโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีเชิงลึก และมีพื้นที่ในการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้สตาร์ทอัพด้านอุตสาหกรรมอวกาศในบ้านเรามีค่อนข้างน้อย ดังนั้นสิ่งที่จะต้องเร่งส่งเสริมคือ การผลักดันให้สตาร์ทอัพเดิมที่มีอยู่เข้าถึงงานวิจัย เทคโนโลยี และสามารถนำต่อยอดได้ในเชิงธุรกิจได้ โดย NIA ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 3 ปี จะต้องสามารถสร้างดีพเทคสตาร์ทอัพได้ 100 ราย หนึ่งในนั้นจะต้องมีสตาร์ทอัพด้านสเปซเทคประมาณ 12-15 ราย เนื่องจากสเปซเทคจะเป็นตัวบงชี้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากพอที่จะวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมมาขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ ”ดร.พันธุ์อาจ กล่าวสรุป