RCEP เพิ่มแต้มต่อส่งออกเกาหลีใต้ ไม่เก็บภาษีสินค้าไทยเพิ่มจากความตกลง AKFTA ถึง 413 รายการ

RCEP เพิ่มแต้มต่อสินค้าไทย 413 รายการ ส่งออกเกาหลีใต้ ภาษี 0%

อัปเดตล่าสุด 5 ก.ค. 2564
  • Share :

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ RCEP เพิ่มโอกาสส่งออกตลาดเกาหลีใต้ ลดภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยเหลือ 0% รวม 413 รายการเพิ่มจาก FTA ที่มีอยู่เดิม หนุนผู้ประกอบการศึกษารายละเอียด เลือกใช้ความตกลง FTA แต่ละฉบับให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าหลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สามารถผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ประสบความสำเร็จนั้น เกาหลีใต้นับเป็นตลาดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพิ่มเติมจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีอยู่เดิม คือ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA)
 
นางอรมน  กล่าวว่า ภายใต้ความตกลง RCEP เกาหลีใต้จะยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.7 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งสินค้าที่เกาหลีใต้ยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยเพิ่มเติมจาก AKFTA มีจำนวนมากถึง 413 รายการ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม ผักผลไม้สดและแปรรูป สบู่ แชมพู น้ำมันที่ได้จากพืช ของปรุงแต่งจากธัญพืชและแป้ง แป้งที่ทำจากรากหรือหัวของพืช (อาทิ แป้งมันสำปะหลัง แป้งท้าวยายม่อม) พลาสติก เครื่องแต่งกาย เครื่องแก้ว ไม้ เครื่องดื่มที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ด้ายทำด้วยยางวัลแคไนซ์ สินค้าประมง รถจักรยาน เครื่องยนต์เรือและส่วนประกอบ กระเบื้อง ซีเมนต์ เป็นต้น

นางอรมน เพิ่มเติมว่า สำหรับสินค้าที่เกาหลีใต้ได้ยกเว้นภาษีศุลกากรให้อยู่แล้วภายใต้ AKFTA และไม่ได้เปิดเพิ่มให้ใน RCEP เช่น เนื้อสัตว์ ดอกไม้ประดับ ผักสด (อาทิ ต้นหอม ผักกาด หอมแดง) ชา ธัญพืช น้ำมันจากพืช ของที่ทำจากน้ำตาล ผักผลไม้ปรุงแต่ง น้ำผลไม้ ยางสังเคราะห์ เส้นใยสังเคราะห์ โฟลตกลาสและแก้วที่ขัดผิวหรือขัดมัน เครื่องยนต์ดีเซล เครื่องจักร เป็นต้น

ดังนั้น ผู้ประกอบไทยจึงควรพิจารณาสิทธิประโยชน์ในกรอบ FTA ต่าง ๆ และเลือกใช้กรอบที่มีความเหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของตน ซึ่งจะต้องพิจารณาควบคู่กับเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ และระเบียบวิธีปฏิบัติด้านพิธีการศุลกากรที่กำหนดในแต่ละ FTA ด้วย

โดย กรมฯ ได้เผยแพร่ข้อมูลอัตราภาษีศุลกากรที่เกาหลีใต้เก็บกับสินค้าส่งออกจากไทยทั้ง 2 FTA คือ AKFTA และ RCEP ในเว็บไซต์ของกรมฯ ที่ http://tax.dtn.go.th รวมทั้งข้อมูลกฎถิ่นกำเนิดสินค้าใน FTA ฉบับต่าง ๆ ที่ http://www.thailandntr.com ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบสามารถรักษาสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากแต้มต่อทางภาษีที่ประเทศไทยเจรจามาได้ใน FTA

 
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ของปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้อยู่ที่ 6,495.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 29.6% จากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า 

การส่งออกจากไทยไปเกาหลีใต้มูลค่า 2,374.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 33.9% สินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น วงจรพิมพ์ วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์ ยางล้อรถยนต์ อุปกรณ์เครื่องโทรศัพท์ไร้สาย เศษเหล็กและอะลูมิเนียม เนื้อไก่แปรรูป แผ่นไม้อัด ยางธรรมชาติ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

ไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้มูลค่า 4,120.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 27.3% สินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น วงจรรวมที่ใช้ในทางอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ สิ่งพิมพ์ ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีด น้ำมันฟีดสต๊อกสำหรับใช้ในการผลิตน้ำมันหล่อลื่น บุหรี่ เม็ดพลาสติก แคโทดที่ทำด้วยทองแดง ปลาสคิปแจ็กหรือปลาโอท้องแถบแช่แข็ง เป็นต้น

 

#RCEP #rcep agreement #rcep asean #FTA #AKFTA #การค้าไทย #ส่งออกไทย #เอฟทีเอ #FTA  ไทย #ส่งออกเกาหลีใต้ #ตลาดเกาหลีใต้ #สินค้าส่งออก #กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ #กระทรวงพาณิชย์ #วงในอุตสาหกรรม #ข่าวอุตสาหกรรม #Mreport #M Report #mreportth

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH