ผู้ประกอบการเฮ! เตรียมปลดล็อกควบคุมการนำเข้า 3D Printer หนุนพัฒนานวัตกรรม
พาณิชย์เปิดรับฟังความเห็นยกเลิกกฎหมายควบคุมนำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2559 เป็นภาระต่อผู้นำเข้า เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน
นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 โดยให้ผู้นำเข้ามาจดแจ้งกับกรมฯ ก่อนนำเข้า เพื่อป้องกันการนำเครื่องพิมพ์สามมิติไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ผลิตอาวุธปืนหรือวัตถุอันตรายอื่น กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งจากการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ที่ประชุมเห็นว่าขอบเขตสินค้าเครื่องพิมพ์สามมิติตามพิกัดศุลกากร 8477.10.39 และ 8479.89.39 ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ครอบคลุมถึงสินค้าอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ประกอบกับปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่ามีเทคโนโลยีการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติที่สามารถนำไปผลิตอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่มีประสิทธิภาพได้ การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นภาระแก่ผู้นำเข้า ตลอดจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ประชุมจึงมีมติให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว
ในการนี้ จึงขอเชิญหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้สนใจร่วมแสดงความเห็นต่อร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) ผ่านเว็บไซต์ www.dft.go.th ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ DFT Call Center โทร 1385
อ่านต่อ:
- Metal 3D Printer กับ อนาคตอุตสาหกรรมการผลิต
- เทคโนโลยี 3D Printing ในปัจจุบัน ช่วยให้สามารถพิมพ์วัสดุ ABS, ASA และ PET-CF ที่มีขนาดใหญ่ได้แล้ว
- Sodick “OPM250L” Metal 3D Printer ฉีกทุกกฎ การผลิตแม่พิมพ์ซับซ้อน