กระทรวงอุตสาหกรรม รีแบรนด์สู่ MIND

เปิดนโยบาย อุตฯ "MIND" ใช้หัวและใจ ปฏิรูปกระทรวง ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ดันเศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน

อัปเดตล่าสุด 2 ธ.ค. 2565
  • Share :

กระทรวงอุตสาหกรรม รีแบรนด์สู่ MIND ใช้หัวและใจ ขับเคลื่อนนโยบายปี 2566 ติดปีกภาคธุรกิจ มุ่งอุตสาหกรรมวิถีใหม่ ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบาย 4 มิติ ส่งเสริมธุรกิจ ดูแลสังคม รักษาสิ่งแวดล้อม และกระจายรายได้สู่ชุมชน

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ MIND ในปี 2566 ว่า กระแสเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวรวมทั้งเศรษฐกิจไทย หลังจากวิกฤติโควิด-19 ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า GDP ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 และกระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่า ปี 2565 GDP ภาคอุตสาหกรรมและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ขยายตัวร้อยละ 2.0 และร้อยละ 1.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในปี 2566 เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเปราะบางจากหนี้สาธารณะของหลายประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยเกือบ 100% อาทิ ญี่ปุ่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา

โดยพบว่าไทยมีปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ อาทิ ภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันแพง ค่าเงินบาทอ่อน และดอกเบี้ยสูง ทำให้สินค้ามีการปรับราคาสูงขึ้น อีกทั้ง ปัญหาด้านโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่เริ่มแข่งขันได้ยาก เช่น ต้นทุนด้านแรงงานและการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงปัญหาด้านภาพลักษณ์ของภาคอุตสาหกรรมต่อประชาชน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม  

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า จากปัจจัยข้างต้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน ตามแนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” ดังนี้ 

1. “อุตสาหกรรม” ต้องมีภาพที่ดี ด้วยพลังของคนอุตสาหกรรม โดยใช้หลักการ "อุตสาหกรรมดี ชุมชนดี หน่วยงานดี" ร่วมกันสื่อสาร “การรวมพลังอุตสาหกรรมดี” เพื่อสร้างทัศนคติรวมถึงประสบการณ์ที่ดีให้กับประชาชนและสถานประกอบการให้มีความเชื่อมั่น เชื่อถือ และไว้วางใจ พร้อมปรับปรุงการให้บริการอุตสาหกรรมสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วน สามารถตรวจสอบได้ สร้างความโปร่งใสในการทำงาน ด้วยการปลูกฝังการทำดีด้วย 'หัว' และ 'ใจ" ของข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ พร้อมผลักดัน “ชุมชนรักโรงงาน โรงงานรักชุมชน และสร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชน” เพื่อให้ชุมชนและอุตสาหกรรมอยู่ด้วยกันอย่างเป็นมิตร พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่อง

2. ทุกนโยบาย มาตรการ และกลไก มุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ และให้รางวัลกับคนทำดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่ S-curve ที่มุ่งเน้นการผลิตและโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประกอบด้วย

มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ การปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับโลกอนาคต การแข่งขันด้านประสิทธิภาพและต้นทุน รวมถึงเพิ่มความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรม อาทิ เกษตรอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และยานยนต์แห่งอนาคต

มิติที่ 2 การประกอบการที่กระทรวงดูแล ต้องไม่สร้างผลกระทบต่อพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้ประชาชน

มิติที่ 3 การตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม สู่อุตสาหกรรมสีเขียว เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน  (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)

และ มิติที่ 4 การรักษาวิถีชีวิต สร้างประโยชน์ พัฒนาชุมชนรอบอุตสาหกรรม และต่อยอดอาชีพดีพร้อม โดยมุ่งเน้น “การสร้างงาน สร้างอาชีพ” ให้คนรุ่นใหม่สามารถต่อยอดอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวหรืออัตลักษณ์ชุมชน ขณะเดียวกันจะกระตุ้นผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ทำงานร่วมกับชุมชนและเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง 

ทั้งนี้ หากดำเนินการตามที่กล่าวมา เชื่อมั่นว่าในปี 2566 จะสามารถกระตุ้น GDP ภาคอุตสาหกรรม และ MPI ให้สูงขึ้นร้อยละ 2.5 – 3.5 และเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป ดร.ณัฐพล กล่าว

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH