กนอ. เฝ้าระวังเข้ม 3 นิคมฯ โซนอยุธยา พร้อมรับมือน้ำเหนือ
“สุริยะ” กำชับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เฝ้าระวังพื้นที่ 3 นิคมอุตสาหกรรมโซนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมรับมือน้ำเหนือ หลังเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระราม 6 ปล่อยน้ำเพิ่มจาก 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ด้าน “วีริศ” สั่งยกระดับการเฝ้าระวังทั้ง 3 นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงคันป้องกันน้ำท่วม ติดตามสภาพอากาศและระดับน้ำอย่างต่อเนื่อง!
วันที่ 5 ตุลาคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทาน ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนพระราม 6 โดยทยอยปรับเพิ่มจาก 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำ ถึงเขื่อนพระราม 6 พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 0.40-1.00 เมตร และมีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงสั่งการให้ กนอ. เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมโซนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้าอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ได้รับรายงานจาก กนอ. ว่า มีการยกระดับการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งเพิ่มขึ้นแล้ว
- กนอ. เปิดยุทธศาสตร์ปี’66-70 ชู Smart Industrial Estate นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน
- การนิคมฯ เผยแผนแม่บท ปี’66 ลุยปั้น “ท่าเรือบก (Dry Port)” รองรับฮับโลจิสติกส์อาเซียน
- กนอ. จับมือ GC ลงนาม MOU จัดการขยะตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งสู่เป้าหมาย “Net Zero”
ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ยกระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 2 (เฝ้าระวัง) หลังมีการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนพระราม 6 รวมถึงมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำทั้งภายในและภายนอกนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่งเพิ่มขึ้น โดยที่นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ร่วมด้วย มีระดับน้ำห่างจากหลังคันป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ ประมาณ 2.86 เมตร ส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำภายนอกแนวป้องกัน (แม่น้ำเจ้าพระยา) เมื่อเทียบกับความสูงของเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังคงเหลือระยะห่างจากสันเขื่อนอยู่ 2.16 เมตร โดยระดับน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อำเภอบางปะอิน อยู่ที่ 3,587 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ระดับน้ำภายในแนวป้องกัน (ประตูคลองจิก) เมื่อเทียบกับระดับถนนอุดมสรยุทธ์ภายในนิคมฯ ยังมีระยะห่างอยู่ที่ประมาณ 1.66 เมตร ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำภายนอกแนวป้องกัน (แม่น้ำเจ้าพระยา) ระดับน้ำห่างจากหลังคันป้องกันน้ำท่วมนิคมฯ ประมาณ 1.70 เมตร โดยมีปริมาณอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 3,218 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
“ทั้ง 3 นิคมฯ ยังมีศักยภาพในการรับมือและป้องกันสถานการณ์น้ำท่วมได้เป็นอย่างดี แต่การยกระดับการเตือนภัยนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อม และเป็นการไม่ประมาท เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยทั้ง 3 นิคมฯ มีการตรวจวัดระดับน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องสูบระบายน้ำให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีการพร่องน้ำรักษาระดับไว้ที่ประมาณร้อยละ 50 ตามสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะเดียวกันได้ให้ทั้ง 3 นิคมฯ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันป้องกันน้ำท่วม รอบนิคมฯ เป็นประจำด้วย รวมทั้งติดตามการพยากรณ์อากาศ ระดับน้ำ การระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ จากกรมชลประทานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มั่นใจว่ามาตรการที่ดำเนินการทั้งหมดจะสามารถรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบนิคมฯและผู้ประกอบการให้น้อยที่สุด โดย กนอ.พร้อมดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างดี” นายวีริศ กล่าว
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH