การ ประเมิน ความ เสี่ยง โรงงาน อุตสาหกรรม, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม, ไฟไหม้โรงงาน, ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้เคมีคอล, มาตรา 35(4) พ.ร.บ. โรงงาน 2535, โรงงานที่มีลักษณะการประกอบกิจการที่มีความเสี่ยง 12 ประเภทโรงงาน

อุตฯ เข้ม! สั่ง 2,373 โรงงานเสี่ยง ส่งรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงฯ หวั่นซ้ำรอยหมิงตี้

อัปเดตล่าสุด 3 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 1,599 Reads   

อุตฯ เข้ม!! สั่ง 2,373 โรงงานเสี่ยง ส่งรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงฯ หวั่นซ้ำรอยหมิงตี้ หากเพิกเฉย เตรียมใช้ มาตรา 35(4) พ.ร.บ. โรงงาน 2535 ดำเนินคดี

วันที่ 3 มีนาคม 2565 นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด แจ้งเตือนผู้ประกอบกิจการโรงงาน ใน 12 ประเภทโรงงาน จำนวน 2,373 โรงงาน เร่งส่งรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2552  โรงงานจำนวน 12 ประเภทโรงงานมีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน โดยเฉพาะ 2 ประเภทโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง จำนวน 464 แห่ง ได้แก่ โรงงานลำดับที่ 42 (1) และโรงงานลำดับที่ 44 ที่จะมีการผลิต เก็บ ใช้สารเคมีและตัวทำละลายที่เป็นสารไวไฟ ต้องส่งแบบรายงานการตรวจโรงงานแบบทางไกล แบบตรวจประเมินวัตถุอันตราย และแบบสรุปรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน หากไม่ดำเนินการจัดส่งภายในระยะเวลาที่กำหนด จะสั่งการตามมาตรา 35(4) ของ พ.ร.บ. โรงงาน 2535 ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกรณีที่ปรากฏว่าการประกอบกิจการของโรงงานใดอาจจะก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือทรัพย์สินอาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว

ด้านนายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า โรงงานที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ความเสี่ยงฯ ทั้ง 12 ประเภท กว่า 2 พันโรงงานนี้ ถือเป็นโรงงานที่มีความเสี่ยงจากการประกอบกิจการ หากประกอบกิจการไม่เป็นไปตามมาตรการของแผนบริหารจัดการความเสี่ยงในรายงานดังกล่าว ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคล ชุมชน ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น กรอ. จึงต้องกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อมิให้เกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยซ้ำรอย เหมือนกับกรณีโรงงานหมิงตี้ที่ผ่านมา

“สำหรับโรงงานที่มีลักษณะการประกอบกิจการที่มีความเสี่ยง 12 ประเภทโรงงาน ประกอบด้วย โรงงานสกัดน้ำมันจากพืช สัตว์หรือไขมันสัตว์เฉพาะที่ใช้สารตัวทำละลายในการสกัด (ประเภท 7(1)(4)), โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับ เคมีภัณฑ์ สารเคมีหรือวัตถุอันตราย (ประเภท 42(1)(2)), โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับปุ๋ย หรือสารป้องกันหรือกําจัดศัตรูพืชหรือสัตว์ยกเว้นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และการผลิตปุ๋ยเคมีที่ไม่มีการใช้แอมโมเนียมไนเตรต (Ammonium Nitrate) หรือโปแตสเซียมคลอเรต (Potassium Chlorate) (ประเภท 43(1)(2)), โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก หรือเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งมิใช่ใยแก้ว (ประเภท 44), โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสี น้ำมันชักเงา เชลแล็ก แล็กเกอร์หรือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ยาหรืออุดยกเว้นการผลิตสีน้ำ (ประเภท 45(1)(2)(3)), โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการทําไม้ขีดไฟ วัตถุระเบิด หรือดอกไม้ไฟ หรือการทำคาร์บอนดำ (ประเภท 48(4)(6)), โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ประเภท 49), โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ถ่านหิน หรือลิกไนต์ ยกเว้นแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (ประเภท 50(4)), โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่ง หรือจำหน่ายก๊าซ (ประเภท 89), โรงงานบรรจุก๊าซ (ประเภท 91(2)), โรงงานห้องเย็น เฉพาะที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น (ประเภท 92),  โรงงานผลิต ซ่อมแซม ดัดแปลงเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด หรือสิ่งอื่นใดที่มีอำนาจในการประหาร ทำลาย หรือทำให้หมดสมรรถภาพในทํานองเดียวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด และรวมถึงสิ่งประกอบของสิ่งดังกล่าว (ประเภท 99)” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH