“จุฬา สุขมานพ” เลขาอีอีซีคนใหม่ โชว์วิสัยทัศน์เดินหน้า EEC ดึงนักลงทุน 2.2 ล้านลบ.
เปิดวิสัยทัศน์ “จุฬา สุขมานพ” เลขาอีอีซีคนใหม่ เป้าหมายหลักดึงนักลงทุนตอบโจทย์ BCG 2.2 ล้านล้านบาทใน 5 ปี เร่งเคลียร์ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน สร้างงานรายได้ตรงถึงคนไทย
วันที่ 4 มีนาคม 2566 นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยในการแถลงวิสัยทัศน์ ว่า ได้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ อีอีซี เป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เม.ย 2566 มีความตั้งใจ พร้อมจะนำความรู้ความสามารถประสบการณ์การทำงาน เพื่อวางแผนงานบริหารให้ อีอีซี เป็นองค์กรภาครัฐยุคใหม่ บริหารจัดการที่ดี ทันสมัย สร้างความเข้าใจให้คนไทยยอมรับ ความจำเป็นการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี โดยกำหนดแนวทางการบริหารงาน วิสัยทัศน์ ปี 2566 – 2570 เน้นมุ่งมั่นบริหารงานให้ อีอีซี ก้าวไปสู่ “ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน เป็นความหวังของคนไทย และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและประชากรนานาชาติ”
ซึ่งภารกิจงานเร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือ ทบทวนแผนภาพรวมเพื่อการพัฒนาอีอีซี ให้สอดคล้องกับบริบทโลกในอนาคต ที่จะศึกษาถึงปัจจัยจากสถานการณ์ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน เช่น ผลกระทบจากโควิด 19 การถดถอยของเศรษฐกิจโลก การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงแนวโน้มและทิศทางของเทรนด์อุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อทำให้แผนภาพรวมของอีอีซีฉบับใหม่รองรับการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า เพิ่มขีดความสามารถในการชักจูงนักลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ สอดคล้องรับกับแนวโน้มสถานการณ์การลงทุนของโลก และของประเทศไทย
“โดยแนวทางการสนับสนุนด้านการลงทุนซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญหลัก และเร่งสร้างความเชื่อมั่นดึงนักลงทุนสู่พื้นที่ อีอีซี ได้แก่ 1) เรื่องที่ดิน (Land) ที่อีอีซีจะเตรียมความพร้อมและหารือร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ จัดสรรพื้นที่เชิญชวนให้เกิดการลงทุนเจาะเฉพาะแต่ละกลุ่มธุรกิจ 2) ด้านแรงงาน (Labour) เตรียมพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง นำเสนอเป็นแพคเกจเพื่อจูงใจนักลงทุน ที่อีอีซีจะมีบุคลากรพร้อมรองรับการทำงานตรงความต้องการอุตสาหกรรม 3) Law and regulations เตรียมปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและระเบียบให้ง่ายแก่การลงทุนและสามารถอำนวยความสะดวกแก่การเข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่ และ 4) Logistics infrastructure ผลักดันให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และโลจิสติกส์เพื่อลดต้นทุนในการประกอบกิจการ ซึ่งอีอีซี ยังคงกำหนดเป้าหมายหลักดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศ 2.2 ล้านล้านบาท กระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต 5% ต่อปี ที่เป็นเป้าหมายเดิมที่วางไว้และจะต้องผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด” เลขาธิการอีอีซีกล่าว
โดยกรอบภารกิจอีอีซีที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ยั่งยืน ได้แก่
1. บริหารโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ผลักดันการลงทุนหลักอีอีซี โดยมีแผนงาน บริหารโครงสร้างพื้นฐานหลัก 4 โครงการ (EEC Project List) รวมไปถึงการเร่งเจรจากับเอกชน หาทางออกเพื่อบรรเทาปัญหาต่างๆ ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วและให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนภายในปี 2566 ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตั้งเป้าหมายให้เอกชนสามารถเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) และส่งมอบพื้นที่ช่วงพญาไท - ดอนเมือง โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาตตะวันออก กำหนดเป้าหมายให้เอกชนสามารถเริ่มงานก่อสร้าง (NTP) และประกาศเชิญชวนเอกชนก่อสร้างทาง Runway 2 รวมไปถึง โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 และ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F ความคืบหน้าด้านงานก่อสร้างพื้นที่ทางทะเล ให้สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ เป็นต้น
นอกจากนี้ จะมีการผลักดันโครงการลงทุน PPP ใหม่ที่สำคัญ อาทิ โครงการโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ซึ่งจะยกระดับด้านบริการสาธารณสุขให้คนในพื้นที่อีอีซี ในอนาคตอันใกล้อีกด้วย เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ และแสดงภาพรวมความก้าวหน้าที่ อีอีซี ดำเนินการได้ตามแผนอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนใหม่ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก
2. ผลักดันลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ขับเคลื่อนโครงการเดิม เริ่มโครงการใหม่ เพื่อดึงดูดการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมาย 2.2 ล้านล้านบาท เกิดการลงทุนปีละ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในฐานปกติปีละ 250,000 ล้านบาทและการลงทุนในส่วนเพิ่มที่อีอีซี ได้เน้นการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น การแพทย์สมัยใหม่ โลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านเกษตร ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โดยจะเน้นดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศที่มีศักยภาพตรง รวมปีละ 150,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะผลักดันแผนงานที่สำคัญให้เกิดเป็นรูปธรรมให้พื้นที่ อีอีซี เป็นเป้าหมายสำหรับ นักลงทุนเพิ่มขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมชักจูงนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (โรด์โชว์) ส่งเสริมการลงทุนในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษและกิจการพิเศษ กำหนดเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการพิเศษเพิ่มเติม อาทิ โรงพยาบาลปลวกแดง 2 การพัฒนาระบบ OSS เชื่อมโยงกับหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุมัติ เพื่อให้บริการอย่างเบ็ดเสร็จครบวงจรอย่างแท้จริง รวมไปถึง การพัฒนากำลังคนภายในของอีอีซี เพื่อสร้างให้เป็นนักขายที่มีความชำนาญเพื่อจูงใจนักลงทุนเฉพาะแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ตรงความต้องการให้เข้าสู่พื้นที่อีอีซีต่อไป
โดยในปี 2566 นี้ จะเป็นปีแห่งการลงทุนเจาะกลุ่มเป้าหมายนักลงทุนยิ่งขึ้น การจัดคลัสเตอร์แต่ละอุตสาหกรรมที่จะเห็นได้ชัดว่า เกิดการจองและการเข้าเจรจาการลงทุนต่อเนื่องในพื้นที่อีอีซี
3. ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐานร่วมกับชุมชน แผนงานที่สำคัญ ได้แก่ ผลักดันการพัฒนาบุคลากร ร่วมกับ ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาความเป็นอยู่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาธุรกิจในพื้นที่ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอีอีซี เพิ่มบทบาทเครือข่ายประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์และมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการพัฒนาอีอีซี เป็นต้น
นอกจากนี้ ภารกิจที่จะเข้าไปดำเนินการ ด้านพื้นที่และชุมชน ซึ่งถือเป็นฐากรากสำคัญ เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชนต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเศรษฐกิจชุมชนที่มีศักยภาพ โดยจะเร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน e-commerce การพัฒนาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ wellness ที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ อีอีซี เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาด้านการศึกษา และจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่ อีอีซี ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH