ก.อุตฯ เตรียมชง ครม. “งดเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน" กว่า 231 ลบ. ช่วยผู้ประกอบการ 56,000 ราย พ้นสถานการณ์ Covid-19

อัปเดตล่าสุด 26 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 676 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เตรียมเสนอมาตรการงดเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน เข้าที่ประชุม ครม. ช่วยผู้ประกอบการกว่า 56,000 ราย ได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีกว่า 231 ล้านบาท เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยผู้ประกอบกิจการโรงงาน ผ่านพ้นสถานการณ์ Covid-19 

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลกระทบที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมได้รับในช่วงเวลานี้ ซึ่งอาจจะต้องเจอกับวิกฤติในหลายด้าน อาทิ การแพร่ระบาดของไวรัส Covid - 19 สงครามการค้า หรือแม้แต่ค่าเงินบาทแข็งค่า โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ เรื่อง การงดเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศซึ่งคาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการได้กว่า 56,000 ราย เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการ จากสภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีสภาพคล่องเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อราชการซึ่งเป็นไปตามแนวทางการลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของ Covid-19 ของรัฐบาลอีกด้วย
 
กระทรวงอุตสาหกรรมประเมินว่า หาก ครม.เห็นชอบการงดเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงาน จะมีโรงงานอุตสาหกรรม กว่า 56,000 โรงงาน ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี โดยแบ่งเป็นค่าธรรมเนียมจากโรงงานจำพวก 2 (โรงงานที่ใช้เครื่องจักรเกิน 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และคนงานไม่เกิน 50 คน ซึ่งเป็นโรงงานที่อาจก่อปัญหามลภาวะหรือเหตุเดือดร้อนรำคาญเล็กน้อย แก้ไขปรับปรุงได้ไม่ยาก เช่น การขุดลอก กรวด ทราย ดิน การลำเลียงหิน กรวด/ทราย/ดิน ด้วยสายพานลำเลียงโรงงานผลิตน้ำดื่ม ไอศกรีม โรงผลิตน้ำแข็งใช้เครื่องจักร เมื่อจะประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้งให้ผู้อนุญาต ทราบก่อน) จำนวน 434 โรงงาน มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรวม 390,750 บาทและ ค่าธรรมเนียมจากโรงงานจำพวก 3 (โรงงานที่ใช้เครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า และคนงานเกิน 50 คน จึง ซึ่งเป็นโรงานที่อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษหรือเหตุเดือดร้อน รำคาญ หรือเหตุอันตรายต้องควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น โรงงานน้ำตาโรงงานผลิตกระดาษ โรงงานผลิตสุรา โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น) จำนวน 56,164 โรงงาน มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรวม 230,729,850 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น กว่า 231 ล้านบาท ทั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยรักษาระดับการประกอบกิจการโรงงานไว้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป

อ่านเพิ่มเติม