เตรียมรับ! มาตรฐานรถยนต์ยูโร 5 บังคับใช้ 1 ม.ค. 67 สำหรับรถยนต์เล็กเครื่องดีเซล - รถบรรทุกทุกประเภท
กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ดีเดย์ 1 มกราคม 2567 เพื่อควบคุมสารมลพิษจากรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล พร้อมปรับแนวทางการอนุญาตยอมรับผลทดสอบยูโร 6 โดยยื่นขออนุญาตยูโร 5 ได้ไม่ต้องทดสอบซ้ำเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ
วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ได้เห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล และรถยนต์ขนาดใหญ่ ได้แก่ รถกระบะ รถบัส และรถบรรทุก ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซล โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 พร้อมทั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดแผนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สำหรับรถยนต์ใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาว โดยกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์เตรียมความพร้อมและวางแผนการผลิตรถยนต์ตามกรอบเวลาที่กำหนดได้ สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกที่มีการพัฒนาเครื่องยนต์ให้ปล่อยมลพิษออกมาน้อยที่สุด
“เพื่อสอดรับกับมติ ครม. ผมได้ลงนามในกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องเป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 แล้วจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ มอก. 3018-2563 สำหรับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด หรือรถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก มอก. 3043-2563 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟที่ใช้ก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง หรือรถยนต์ก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ และ มอก. 3046-2563 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด หรือรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ โดยได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566” นายอนุชา กล่าว
ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เพื่อกำหนดแผนการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 สำหรับรถยนต์ใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จึงมอบหมายให้ สมอ. เร่งดำเนินการตามที่มติ ครม. โดยจะเริ่มจากการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 กับรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ หรือ รถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน วันที่ 1 มกราคม 2568 ก่อน หลังจากนั้น 1 ปี จะบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 กับรถยนต์ทุกประเภท เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยพัฒนาไปสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาคอาเซียน เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยควบคู่กับการรักษาความสมดุลทางสิ่งแวดล้อม สร้างสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและพลังงานสะอาด ให้ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปที่ประกาศบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 แล้ว
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า แนวทางการออกใบอนุญาต สมอ. ได้ออกมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการขอรับใบอนุญาตเพื่อให้สอดรับกับแผนการบังคับใช้มาตรฐาน โดยจะมีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์เฉพาะในการตรวจสอบเพื่อการอนุญาตฯ ซึ่งจะยอมรับผลทดสอบตามมาตรฐานมลพิษระดับยูโร 6 ให้สามารถนำมาใช้ในการขอการรับรองมาตรฐานด้านมลพิษรถยนต์ระดับยูโรที่ต่ำกว่าได้ อาทิ ยูโร 5 โดย สมอ. ได้เปิดรับการยื่นคำขอรับบริการตรวจประเมินระบบควบคุมคุณภาพโรงงาน และคำขอรับบริการทดสอบผลิตภัณฑ์ของรถยนต์ผ่านระบบ E-license ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ยื่นคำขอตรวจโรงงานและคำขอทดสอบรถยนต์ตามมาตรฐานยูโร 5 แล้ว ดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2566)
- รถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก มอก.3018-2563 มีผู้ยื่นคำขอตรวจโรงงาน เป็นผู้ทำจำนวน 4 รายและผู้ยื่นคำขอทดสอบผลิตภัณฑ์ เป็นผู้ทำจำนวน 6 ราย และผู้นำเข้าจำนวน 1 ราย
- รถยนต์ก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ มอก.3043-2563 ยังไม่มีผู้ยื่นคำขอตรวจโรงงานและคำขอทดสอบผลิตภัณฑ์
- รถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ มอก.3046-2563 มีผู้ยื่นคำขอตรวจโรงงาน เป็นผู้ทำจำนวน 1 ราย ผู้นำเข้า 5 ราย และผู้ยื่นคำขอทดสอบผลิตภัณฑ์ เป็นผู้ทำจำนวน 3 ราย และผู้นำเข้าจำนวน 4 ราย
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- สรุปยอดขายรถยนต์ในไทย ปี 2565
- ครม. อนุมัติงบอุดหนุนรถ BEV 18,000 - 150,000 บาท/คัน
- ภาพรวมอุตสาหกรรมโซลาร์เซลล์ของไทย
- 17 อุตสาหกรรมแนวโน้มเติบโตในปี 2566
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH