ก.อุตฯ เผยผลิตภาพอุตสาหกรรมไทยปี'64 ยังแกร่ง ฝ่าผลกระทบแรงจากโควิด-19
ก.อุตฯ เผยผลศึกษาผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมปี'64 ยังแกร่งฝ่าโควิด-19 จากคุณภาพปัจจัยทุนและการบริหารจัดการ พร้อมเดินหน้าปี'65 เพิ่มศักยภาพและการแข่งขันจากจัดการฐานข้อมูล Big Data เศรษฐกิจอุตสาหกรรม ย้ำผนึกกำลังทุกภาคส่วน สร้างประสิทธิภาพการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมและเชื่อมโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อเป้าหมายภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพการผลิตอย่างใกล้ชิด โดยจากการสำรวจข้อมูลประจำปี 2564 ได้นำแบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายปี (ร.ง.9) มาวิเคราะห์ความสามารถในการผลิตและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการภาคอุตสาหกรรม พบว่า ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง ผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความแข็งแกร่งจากคุณภาพปัจจัยทุนและการบริหารจัดการที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 0.34 และ 1.70 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนถึงคุณภาพปัจจัยทุนและการบริหารจัดการที่เป็นภูมิคุ้มกันหลักให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ที่ยากจะควบคุมของผลกระทบห่วงโซ่การผลิตโลกที่หยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การที่จะรักษาความสามารถในการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลก โรคระบาด หรือสงครามระหว่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ จำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งในด้านประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมี 5 กลไกสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง คือ 1. การพัฒนาทักษะแรงงาน 2. การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ/ กึ่งอัตโนมัติ 3. การบริหารจัดการด้านต้นทุนและการเงิน 4. การยกระดับการผลิตไปสู่รูปแบบการผลิตแบบรับจ้างออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ (ODM) และการออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการ (OBM) ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น และ 5. การลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การจัดการ และการสร้างนวัตกรรมในสินค้า มีการจดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตรต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงมากให้กับสินค้าและเศรษฐกิจของประเทศ
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม MPI ปี 2565 เดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 7.49% ภาพรวมไตรมาสแรกขยายตัว
- สศอ. เคาะ 6 แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม มุ่งปรับโครงสร้างภาคการผลิต
- ก.อุตฯ คาด GDP อุตฯ ปี 2565 ขยายตัว 2.5-3.5% แรงหนุนตลาดส่งออกโตต่อเนื่อง
ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สำหรับในปี 2565 สศอ.ได้วางแผนรองรับและจัดทำโครงการเพื่อสนับสนุนส่งเสริมผลิตภาพการผลิต และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยดำเนินโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม โครงการสร้างนักพัฒนาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ควบคู่กับการพัฒนาระบบการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อยกระดับข้อมูลสารสนเทศด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมให้ทันต่อสถานการณ์ สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่องคือการเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยการยกระดับมูลค่าเพิ่มในการผลิต และการปรับปรุงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่ำไปสู่การใช้เทคโนโลยีสูง รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถของกำลังแรงงาน รองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ควบคู่กับการลงทุนทรัพยากรทุนและบุคลากร ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมและเชื่อมโยงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อเป้าหมายพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” นายทองชัย กล่าว
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH