สมอ. แก้หลักเกณฑ์ช่วยผู้ส่งออก จากผลกระทบรัสเซีย-ยูเครน เริ่มใช้ ส.ค.นี้
บอร์ด สมอ. ไฟเขียว ให้แก้ไขหลักเกณฑ์ช่วยผู้ส่งออกเพิ่มเติม กรณีส่งสินค้าออกไปแล้วไม่สามารถเข้าประเทศปลายทางได้ จำเป็นต้องนำกลับเข้าประเทศไทย ให้แสดงหลักฐานว่าเป็นผลิตภัณฑ์เดียวกันกับที่ส่งออก เริ่มใช้เดือนสิงหาคมนี้
วันที่ 1 สิงหาคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพิ่มเติม กรณีผู้ส่งออกของไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยไม่สามารถส่งสินค้าเข้าประเทศปลายทางได้ และจำเป็นต้องนำสินค้ากลับเข้ามาในประเทศ โดยให้ สมอ. ออกมาตรการช่วยเหลือโดยเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ส่งออก ให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้
ด้าน นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการดังกล่าว คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ในคราวการประชุมเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. แก้ไขหลักเกณฑ์ในการส่งออกสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมจำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่แตกต่างไปจากมาตรฐานที่กำหนดเพื่อประโยชน์ในการส่งออก โดยกรณีเมื่อส่งออกแล้วมีความจำเป็นต้องนำกลับเข้ามาในประเทศอีก ให้แจ้งต่อ สมอ. พร้อมแสดงหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์เดียวกันกับที่ได้ส่งออก โดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและลักษณะใดๆ 2) หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนั้น แล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักรทั้งหมด โดยในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกแล้วแต่มีความจำเป็นต้องนำกลับเข้ามาในประเทศอีก ให้แจ้งต่อ สมอ. พร้อมแสดงหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์เดียวกันกับที่ได้ส่งออก โดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและลักษณะใดๆ เช่นกัน ซึ่งการแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในรัสเซีย-ยูเครน แต่ยังอยู่ในการควบคุมของ สมอ. เพื่อไม่ให้สินค้าที่นำกลับเข้ามา มีการจำหน่ายภายในประเทศได้ เพราะสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่ผลิตตามความต้องการของประเทศต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานของประเทศไทย และอาจเกิดความไม่ปลอดภัยต่อประชาชนไทยได้
เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากบอร์ด กมอ. จะเห็นชอบให้ สมอ. แก้ไขหลักเกณฑ์ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังได้เห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมสินค้าเพิ่มเติมอีก 2 รายการ ได้แก่ เสายางจราจรล้มลุก และชุดประกอบสวิตซ์เกียร์ รวมทั้งเห็นชอบมาตรฐานที่กำหนดใหม่ จำนวน 31 มาตรฐาน อาทิ มาตรฐานข้อความที่ใช้สื่อสารในอุตสากรรมการเงินสากล อุปกรณ์จำกัดความเร็วยานยนต์ กระดาษสัมผัสอาหาร บล็อกยางปูพื้นสังเคราะห์ เสาเข็มคอนกรีต ภาชนะพลาสติกสลายตัวได้สำหรับบรรจุอาหาร เครื่องขัดเงาและเครื่องขัดล้างพื้น เครื่องล้างจาน เครื่องบาร์บีคิวภายนอกอาคาร ตู้อบซาวน่าและตู้อบอินฟราเรด และเครื่องสุขอนามัยช่องปากไฟฟ้า อีกด้วย
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH