รายงานความก้าวหน้าโครงการ EEC ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารฯ (กบอ.) ครั้งที่ 2/2564

รายงานความก้าวหน้าโครงการ EEC ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารฯ (กบอ.) ครั้งที่ 2/2564

อัปเดตล่าสุด 10 เม.ย. 2564
  • Share :
  • 647 Reads   

♦ คืบหน้าโครงการ EEC “โซนี่ พิคเจอร์สฯ” เตรียมเปิดสวนน้ำแห่งแรกของโลก 

♦ เดินหน้า 5G พลังงานสะอาด ขับเคลื่อนสนามบินอู่ตะเภา บ้านฉาง มาบตาพุด สู่ต้นแบบชุมชนอนาคต 

♦ พลิกโฉมเมืองพัทยา สู่ NEO PATTAYA ยกระดับเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอีอีซี สร้างรายได้ชุมชนยั่งยืน 

Advertisement

วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน 2564 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 2/2564 ในรูปแบบออนไลน์ ณ ห้องบัญชาการยุทธศาสตร์ ชั้น 25 กระทรวงพลังงาน โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้ 

 

1. สร้างความมั่นใจ ดึงดูดลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ “โซนี่ พิคเจอร์สฯ” เตรียมเปิดสวนน้ำแห่งแรกของโลกในพื้นที่อีอีซี
 
ที่ประชุม กบอ. รับทราบ บริษัท โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ผู้ผลิตภาพยนตร์ระดับโลก ร่วมกับ บริษัท อเมซอน ฟอลส์ จำกัด ประกาศนำสวนสนุกและสวนน้ำในธีมภาพยนตร์ชื่อดังของ โคลัมเบีย พิคเจอร์ อาทิ โกสต์บัสเตอร์ส จูแมนจี้ เอ็มไอบี และโฮเทลทรานซิลเวเนีย มาเปิดในพื้นที่ อีอีซี เป็นแห่งแรกของโลก ภายใต้ชื่อ โคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส ที่ใช้เวลาเดินทาง 20 นาทีจากพัทยา และเพียง 90 นาทีจากกรุงเทพ โดยจะมีความบันเทิงมาตรฐานสากลเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ เช่น การแสดงไลฟ์โชว์ ความบันเทิงโลกเสมือนจริง อุปกรณ์เครื่องเล่นอินเตอร์แอคทีฟ ฉากในสวนสนุกที่ออกแบบเอกลักษณ์เฉพาะ ร้านอาหารอร่อยที่ตกแต่งหลากหลายตามธีมภาพยนตร์ และร้านขายของที่ระลึก ซึ่งจะเปิดแนะนำตัวเดือนตุลาคม 2564  
 
โครงการโคลัมเบีย พิคเจอร์ส อควาเวิร์ส ถือเป็นความภูมิใจ และเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ที่ อีอีซีได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมั่นใจว่าจะเป็นจุดสำคัญ พลิกโฉมกระตุ้นการเติบโตอย่างรวดเร็วใน อีอีซี อีกทั้งจะเป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับความบันเทิงแบบ Immersive Entertainment ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของประเทศไทย และเป็นองค์ประกอบหลักในแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งขณะนี้ อีอีซี พร้อมสนับสนุนโครงการฯ ทั้งในด้านการให้บริการ 5G โครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ การเชื่อมระบบคมนาคมขนส่ง การใช้พลังงานสะอาด และสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์การลงทุนต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้โครงการประสบความสำเร็จ และสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนระยะยาวในพื้นที่ อีอีซี ต่อไป
 
2. เดินหน้า 5G พลังงานสะอาด ขับเคลื่อนสนามบินอู่ตะเภา บ้านฉาง มาบตาพุด สู่ต้นแบบชุมชนอนาคต
 
ที่ประชุม กบอ. รับทราบ การผลักดันใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G และการจัดหาพลังงานสะอาด ในพื้นที่ อีอีซี มีการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
 
1.) ติดตั้งท่อ เสา สาย สัญญาณ ให้บริการ 5G ในพื้นที่มากกว่าร้อยละ 80% โดยปัจจุบันติดตั้งเสาอัจฉริยะ (Smart pole) ในพื้นที่บ้านฉางแล้ว จำนวน 5 ต้น เพื่อใช้ประโยชน์ 5G ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน อาทิ ด้านความปลอดภัย ใช้ข้อมูลที่ประมวลผลได้รวดเร็วขึ้น ควบคุมการเกิดอุบัติเหตุ แจ้งเหตุด่วน ลดอาชญากรรม ด้านสิ่งแวดล้อม แจ้งเตือนคุณภาพอากาศให้แก่ชุมชน ด้านท่องเที่ยว บริการฟรีไวไฟ แจ้งจำนวนจุดจอดรถให้นักท่องเที่ยว ด้านสาธารณสุข เฝ้าระวังผู้ประสบภัยฉุกเฉิน แจ้งหน่วยกู้ชีพแพทย์ช่วยเหลือได้ทันท่วงที เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT จะขยายติดตั้งเสา Smart pole ให้ครบ 160 เสาทั่วพื้นที่บ้านฉาง ภายใน 3 เดือน ใช้เงินลงทุนร่วมจาก อปท.บ้านฉาง และกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อให้บ้านฉางก้าวสู่ต้นแบบชุมชนอนาคต
 
2.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ นำร่องทดลองในลักษณะพลังงานอัจฉริยะ และการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง รองรับการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในพื้นที่บ้านฉาง โดยสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในปี 2565 ทั้งนี้ สกพอ. จะเร่งเสนอจัดตั้งพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา บ้านฉาง และมาบตาพุด เป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษด้านการพัฒนาสัญญาณ 5G อุตสาหกรรมดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะ ต่อไป 
 
3. พลิกโฉมเมืองพัทยา สู่ NEO PATTAYA ยกระดับเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวอีอีซี สร้างรายได้ชุมชนยั่งยืน 
 
ที่ประชุม กบอ. พิจารณา แผนพัฒนาเมืองพัทยา ตามแนวทางพัทยาโฉมใหม่ NEO PATTAYA เน้นการพัฒนาพื้นที่ แหล่งท่องเที่ยวเมืองพัทยา สู่ศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ บูรณาการร่วมกันระหว่าง รัฐ ท้องถิ่น เอกชน และอนาคตจะขยายผลสู่เขตส่งเสริมพิเศษแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในอีอีซี ประกอบด้วย 3 แผนงาน
  
1.) แผนพัฒนาพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวเมืองพัทยา ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวปัจจุบัน ให้ได้มาตรฐานสากล ได้แก่ พัฒนาตลาดลานโพธิ์นาเกลือ (Old Town นาเกลือ) เป็นเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชน คู่กับเป็นตลาดอาหารทะเลชั้นนำของ  อีอีซี ซึ่งเบื้องต้นสกพอ. ร่วมกับเมืองพัทยาทำเป็นโครงการนำร่อง NEO PATTAYA พัฒนาพื้นที่ท่าเรือพัทยาใต้และเขาพัทยา เช่น บริเวณท่าเรือพัทยาใต้ พัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ มีพื้นที่ตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากรบริเวณแหลมบาลีฮาย เพิ่มพื้นที่นันทนาการริมน้ำ ทางเดิน Sky walk เชื่อมท่าเรือสำราญ บริเวณถนนคนเดิน Walking Street ปรับปรุงภูมิทัศน์ ย้ายสายไฟฟ้าลงดิน รื้อถอนอาคารรุกล้ำพื้นที่ในทะเล เป็นต้น รวมทั้ง โครงการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก รองรับแข่งขันกีฬาระดับสากล และโครงการ Neo เกาะล้าน พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
 
2.) แผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งเมืองพัทยาให้ได้มาตรฐานสากล อาทิ เชื่อมต่อสถานีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ เพิ่มสัดส่วนการเดินทางระบบราง พัฒนาท่าเทียบเรือพัทยาใต้ ท่าเรือสำราญ ให้เป็นศูนย์กลางเดินทางทะเล เพื่อเป็นประตูแห่งใหม่ของ อีอีซี
 
3.) แผนพัฒนาระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา เพิ่มโครงข่ายและขนาดท่อระบายน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม แยกระบบระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย ลดการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล 
 
 
4. ขับเคลื่อน BCG Model ตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภาคอุตสาหกรรมเป็นศูนย์แห่งแรกในภูมิภาค

ที่ประชุม กบอ. รับทราบ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model)  เพื่อให้ อีอีซี ก้าวสู่พื้นที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของภาคอุตสาหกรรมแห่งแรกในภูมิภาค โดยตั้งเป้าหมายชักจูงและผลักดันให้เกิดการลงทุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Green & Circular Economy) ในพื้นที่ อีอีซี ปี 2564 – 2569 ให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 10 หรือประมาณ 68 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2569 (เทียบฐานปี 2564) เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ที่ร้อยละ 40 ต้องลงทุนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว

โดยกำหนด 2 กลุ่มเป้าหมายส่งเสริมการลงทุน

1.) กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเดิม ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น ปรับใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล นำระบบดิจิทัล และออโตเมชั่น มาใช้เพื่อลดทรัพยากรในการผลิต ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ลดการสูญเสียพลังงาน เปลี่ยนการจัดการทรัพยากรในการผลิต เพิ่มปริมาณวัสดุรีไซเคิล จัดการของเสียแบบครบวงจร

2.) กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ภาคการผลิตทั่วไป ลงทุนสายการผลิตที่นำระบบดิจิทัล ออโตเมชั่นระบบการจัดการสินค้าหลังการใช้งาน ภาคกิจการ/บริการเทคโนโลยีต้นน้ำ ขยายการลงทุนการบริการด้านเทคโนโลยี ใช้วัสดุสารเคมีทดแทนลดการใช้ทรัพยากรต้นทุน

ปัจจุบัน อีอีซี ได้ผลักดัน BCG Model แล้วหลายโครงการ เช่น โครงการจัดหาพลังงานสะอาดในพื้นที่ อีอีซี จัดหาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 30% ของความต้องการไฟฟ้ารวมในพื้นที่ อีอีซี ระยะแรกจะผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ไม่น้อยกว่า 500 เมกะวัตต์ โครงการพัฒนา EV city บ้านฉาง ดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในที่พักอาศัย สถานีบริการ และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งภายในปี 2564 นำร่องสถานีแบบ Off grid 30 แห่ง On grid 500 แห่ง และในปี 2565 จะขยายได้อีก 500 แห่ง การผลักดันผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (ระยองโมเดล) จะแล้วเสร็จในปี 2564 รองรับขยะได้ 500 ตัน/วัน และผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ ซึ่งอนาคตจะขยายการผลิตไฟฟ้าจากขยะอีก 6 แห่ง ครอบคลุม 3 จังหวัดอีอีซี ซึ่งจะกำจัดขยะรายวันและสะสมได้สูงถึง 6,000 ตัน/วันและผลิตไฟฟ้าได้ 120 เมกะวัตต์

 

อ่านต่อ: