ภาษีคาร์บอน อียู, Carbon Neutrality, ลดคาร์บอน ลดโลกร้อน, กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์

'อียู' เคาะข้อสรุปมาตรการปรับคาร์บอนฯ ขยายเพิ่ม 7 กลุ่มสินค้า เตรียมบังคับใช้ 1 ต.ค. 66

อัปเดตล่าสุด 4 ม.ค. 2566
  • Share :
  • 1,717 Reads   

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย 'อียู' ได้ข้อสรุปมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ขยายเพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้า รวมไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ เตรียมบังคับใช้มาตรการ 1 ต.ค. 66 ก่อนเริ่มใช้เต็มรูปแบบ 1 ม.ค. 69 พร้อมเดินหน้าเห็นชอบร่างกฎหมายเป็นทางการ ย้ำ! ผู้ประกอบการไทยคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ปล่อยคาร์บอนต่ำเพื่อลดภาระการซื้อใบรับรอง CBAM ในอนาคต

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) โดยล่าสุด การประชุม 3 ฝ่าย ระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ได้ข้อสรุปให้ขยายขอบเขตการบังคับใช้ CBAM จากเดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้า โดยรวมไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ อาทิ น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็กกล้า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (indirect emissions) อาทิ ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งได้ข้อสรุปในรายละเอียดสำคัญของมาตรการดังกล่าวแล้ว และจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566

นอกจากนี้ ที่ประชุมให้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568 (3 ปีแรก) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งผู้นำเข้าสินค้า 7 กลุ่ม มีหน้าที่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ผลิต และเริ่มบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น โดยขั้นตอนต่อไป รัฐสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ต้องเห็นชอบร่างกฎหมาย CBAM เป็นทางการ และคณะกรรมาธิการยุโรปต้องจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อกำหนดรายละเอียดในทางปฏิบัติก่อนที่มาตรการ CBAM จะมีผลใช้บังคับในเดือนตุลาคม 2566

“จากพัฒนาการของกฎหมาย CBAM ที่เกิดขึ้น กรมขอให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องนำมารายงานอียูภายใต้มาตรการฯ และควรพิจารณาทางเลือกใหม่ในกระบวนการผลิต เพื่อให้ปล่อยคาร์บอนต่ำ นำพลังงานสะอาด และหมุนเวียนมาใช้ เพื่อลดภาระในการซื้อใบรับรอง CBAM ในอนาคต นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย อาทิ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงพาณิชย์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการไทยต่อไป” นางอรมน เสริม

ทั้งนี้ ในปี 2564 สถิติการส่งออกสินค้าของไทยไปอียู ตามพิกัดสินค้าที่ระบุในร่างกฎหมาย CBAM ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า มูลค่า 125.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3.76% ของการส่งออกไปโลก อะลูมิเนียม มูลค่า 61.17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 3.75% ของการส่งออกไปโลก และน๊อตและสกรู มูลค่า 95.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 19.96% ของการส่งออกไปโลก

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH