ก.อุตฯ ร่างแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2570) ตั้งเป้าไทยเป็นฮับผลิตใหญ่แห่งอาเซียน

ก.อุตฯ เตรียมแผนระยะที่ 1 ดันไทย "ฮับผลิตเครื่องมือแพทย์แห่งอาเซียน" ในปี 2570

อัปเดตล่าสุด 28 ก.ย. 2563
  • Share :

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 4.09 ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558-2562) จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ด้วยประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปีหน้า อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ส่งผลให้สินค้าและเครื่องมือทางการแพทย์บางประเภทขาดแคลน จึงเป็นโอกาสที่จะผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2570) พร้อมตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.)  เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ 1 ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ให้ทันภายในปี 2564 หลังอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558-2562) โดยมีการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 4.09 จากความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปีหน้า อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ส่งผลให้สินค้าและเครื่องมือทางการแพทย์บางประเภทขาดแคลน จึงเป็นโอกาสที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์เป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2564-2570) พร้อมตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียนภายในปี 2570  

“จากการที่ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในปี 2564 และเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2574 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รวมถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทำให้ความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมากบางสินค้า เช่น หน้ากากอนามัย ถุงมือยางความต้องการสูงมากกว่าการผลิตที่มีอยู่และความต้องการยังมีแนวโน้มสูงไปอีกนาน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคในประเทศต่าง ๆ ยังไม่สามารถควบคุมได้ จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะสามารถหยุดการแพร่ระบาดและลดจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อลงได้ ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จึงเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ประกอบกับประเทศไทยเป็นที่นิยมและเป็นประเทศที่มีศักยภาพสามารถรองรับการเข้ามารักษาตัวของชาวต่างชาติ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญ กำหนดเป็นเป้าหมายในการพัฒนาและผลักดันสู่การเป็นฮับทางสุขภาพ” นายสุริยะ กล่าวปิดท้าย

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ร่างแผนปฏิบัติการจะมุ่งแก้ปัญหาอุปสรรค และยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยตลอดห่วงโซ่มูลค่าให้มีการพัฒนาขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากเป็นแผนปฏิบัติการที่เริ่มปฏิบัติได้ทันที โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการหลัก ได้แก่

  1. การส่งเสริมการผลิตและการลงทุนในเครื่องมือแพทย์ ให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นให้มีการผลิตและการลงทุนเครื่องมือแพทย์ ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ไทยให้มีการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับที่สูงขึ้น กำนหนดมาตรฐานอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ให้มีความเชื่อมั่นในสินค้าเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการสร้างตราสินค้าเครื่องมือแพทย์ของไทย
  2. การส่งเสริมช่องทางการเข้าสู่ตลาด ให้มีการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศให้มากขึ้น โดยกำหนดสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจเพิ่มเติมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับโรงพยาบาลของรัฐ  ส่งเสริมให้โรงเรียนแพทย์มีการใช้เครื่องมือแพทย์ของไทยเพื่อให้แพทย์มีความเชื่อมั่นในการใช้เครื่องมือแพทย์ที่ผลิตในประเทศไทย การส่งเสริมตลาดต่างประเทศโดยการจัดงานหรือการเข้าร่วมการประชุมวิชาการทางการแพทย์นานาชาติและงานแสดงสินค้าเครื่องมือแพทย์ ซึ่งจะเพิ่มประโยชน์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ในระดับสากลและส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ของไทยกับนานาชาติ
  3. การส่งเสริม/เตรียมความพร้อมด้านปัจจัยสนับสนุน มีการสร้างปัจจัยสนับสนุนในการยกระดับการผลิตเครื่องมือแพทย์ โดยส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ พัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ สร้างผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกควบคุมกำกับดูแลเครื่องมือแพทย์ (Regulatory expert) และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเชิงเทคนิค (Technical expert) เพื่อให้คำปรึกษานักวิจัยและผู้ประกอบการในการประเมินเอกสารการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ การสนับสนุนข้อมูลสารสนเทศ ระบบฐานข้อมูลกลางเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อาทิ ข้อมูลบัญชีผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลห้องปฏิบัติการทดสอบ ข้อมูลหน่วยงานทดสอบหรือวิจัยทางคลินิก ข้อมูลเอกสารและผลการทดสอบประกอบการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ งานวิจัย และผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว