สมอ. แถลงผลการดำเนินงานรอบปีงบประมาณ 2563

สมอ. โชว์ผลงานปี 63 กำหนดมาตรฐานกว่า 300 เรื่อง ออกใบอนุญาตกว่า 10,000 ฉบับ

อัปเดตล่าสุด 22 ก.ย. 2563
  • Share :

สมอ. แถลงผลการดำเนินงานรอบปีงบประมาณ 2563 ทำได้เกินเป้าหมายทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการกำหนดมาตรฐาน สมอ. ได้พลิกประวัติศาสตร์การมาตรฐานของไทย กำหนดมาตรฐานทั้งสิ้น 310 มาตรฐาน มากที่สุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง สมอ.

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 - นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการแถลงผลการดำเนินงานของ สมอ. รอบปีงบประมาณ 2563 ว่า ปีนี้ สมอ. ยังคงมุ่งมั่นและทุ่มเทดำเนินงานด้านการมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการดำเนินงานในปีนี้เกินเป้าหมายทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการกำหนดมาตรฐาน สมอ. ได้พลิกประวัติศาสตร์การมาตรฐานของไทย กำหนดมาตรฐานทั้งสิ้น 310 มาตรฐาน มากที่สุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง สมอ. ทั้งมาตรฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ มาตรฐานกลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็ก กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า กลุ่มนวัตกรรม กลุ่มสมุนไพร กลุ่มผลิตภัณฑ์ BCG (Bio/ Circular/Green) มาตรฐานด้านมลพิษยูโร 5 ยูโร 6 มาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกัน PM 2.5 และมาตรฐานทางการแพทย์ป้องกันโควิด ฯลฯ 

ด้านการออกใบอนุญาต มอก. ปีนี้ สมอ. ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการทั้งสิ้น 10,358 ฉบับ ซึ่งเป็นการออกใบอนุญาตที่มากสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบด้วย มาตรฐานด้านโยธาและวัสดุก่อสร้าง จำนวน 2,249 ฉบับ ไฟฟ้า จำนวน 2,058 ฉบับ ยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 4,378 ฉบับ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น โภคภัณฑ์ ยาง เครื่องมือแพทย์ จำนวน 1,673 ฉบับ

สำหรับการกำกับและการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า สมอ. ได้ตรวจควบคุมการจําหน่ายสินค้าในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าที่ซื้อขายบนโลกออนไลน์ ทั้งการลงพื้นที่ตรวจสอบ การเฝ้าระวังการนําเข้าผ่านระบบ NSW และตรวจติดตามการจําหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) โดยในปีนี้ สมอ. สามารถตรวจจับสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มูลค่ากว่า 1,050 ล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์เหล็ก มูลค่ากว่า 850 ล้านบาท รองลงมากลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไดร์เป่าผม เตารีด เต้ารับเต้าเสียบ พัดลม เตาปิ้ง เตาย่าง เป็นต้น มูลค่ากว่า 113 ล้านบาท และเป็นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หม้อทอด เตาปิ้งย่าง ที่มีการจําหน่ายผ่านทางออนไลน์ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท สําหรับการตรวจติดตามการจําหน่ายสินค้าออนไลน์ สมอ. ได้ตรวจสอบร้านค้าออนไลน์แล้วจํานวน 1,118 ร้าน และลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าอีกกว่า 4,000 ร้านค้า นอกจากนี้ สมอ. ยังได้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบการนําเข้าสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ซึ่งเป็นสินค้าที่หากไม่ได้มาตรฐานแล้ว จะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้ใช้ จํานวน 1,129 ฉบับ เนื่องจากไม่แจ้งข้อมูลการนําเข้าสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตย้อนหลัง เพื่อป้องกันมิให้มีการลักลอบนําเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจําหน่าย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในประเทศ โดยการดำเนินการในครั้งนี้ เป็นการเพิกถอนใบอนุญาตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการดำเนินงานด้านการมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมา 50 ปี มีการเพิกถอนไปเพียง 1 ฉบับ 

สำหรับการบริการเพื่ออํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชน สมอ. ได้นําระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการทํางานทุกกิจกรรมอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการขออนุญาต มอก. การตรวจติดตาม และการชําระค่าบริการต่างๆ ที่ผู้ประกอบการ และประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการของ สมอ. ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ระบบ e-License สมอ. ได้พัฒนาระบบให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการสามารถยื่นคําขอได้ทุก มอก. กว่า 2,200 มาตรฐาน ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ www.itisi.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง โดยผลทดสอบผลิตภัณฑ์และผลตรวจโรงงานจะถูกส่งตรงจาก Third Party ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ผู้ประกอบการไม่ต้องมีภาระเรื่องเอกสารดังกล่าวอีกต่อไป ระบบ e-Payment การชําระค่าบริการและค่าธรรมเนียมงานบริการด้านอื่นๆ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถชําระค่าธรรมเนียมและค่าบริการให้ สมอ. ได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยสามารถชําระค่าธรรมเนียมบริการข้ามธนาคาร หรือ Cross Bank Bill Payment ได้ นอกเหนือจากบัญชีของธนาคารกรุงไทยเพียงอย่างเดียวอย่างที่ผ่านมา สําหรับการตรวจติดตามผลผู้ได้รับใบอนุญาต สมอ. ใช้ระบบการตรวจติดตามผ่านระบบ e-Surveillance เพื่ออํานวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของ สมอ. ให้มากยิ่งขึ้น โดยมีผู้ประกอบการผ่านการตรวจสอบผ่านระบบ e-Surveillance แล้ว จํานวน 266 ราย ซึ่ง สมอ. ยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพการตรวจติดตาม โดยการลงพื้นที่เพื่อตรวจติดตามสถานประกอบการทั่วประเทศ อีกกว่า 5,400 ราย ด้านการรับรองระบบงาน ISO สมอ. ได้นําระบบ e-Accreditation มาใช้ในการรับรองห้องแล็ป เพื่อให้ห้องแล็ปได้รับการยอมรับและความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะเป็นการยกระดับด้านการมาตรฐานของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศ โดย สมอ. นําระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ตั้งแต่การยื่นคําขอ การประสานงาน การตรวจประเมินทางไกล (Remote assessment) และการรับรองตนเอง (Self declaration) แทนการออกไปตรวจประเมินสถานที่จริง โดยผู้ตรวจประเมินจะประสานงานการตรวจประเมินทางออนไลน์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และแอปพลิเคชั่นต่างๆ บนเว็บไซต์ และสมาร์ทโฟน เป็นต้น ระบบ National Single Window – NSW สมอ. ได้พัฒนาระบบให้มีการเชื่อมโยงกับกรมศุลกากรผ่านระบบ NSW เพื่ออำนวยความสะดวกและกำกับติดตามสินค้าที่ สมอ. ควบคุมที่ได้มีการขออนุญาตนําเข้าประมาณกว่า 300 คําขอ/วัน ประมาณผลิตภัณฑ์กว่า 500 รายการสินค้า/วัน โดยระบบจะออกเลข Permission ให้แก่ผู้นําเข้าเพื่อนําไปใช้ในการทําใบขนสินค้าต่อไป การแสดง QR Code คู่กับเครื่องหมายมาตรฐาน ซึ่งตาม พ.ร.บ.มาตรฐานฯ และกฎกระทรวงฉบับใหม่ กําหนดให้ผู้รับอนุญาตทุกรายจะต้องแสดงรายละเอียดข้อมูลในใบอนุญาต และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์คู่กับเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าด้วย ซึ่งจะทําให้ประชาชนสามารถตรวจสอบรายละเอียดของสินค้าได้ง่ายๆ เพียงสแกน QR Code ก่อนตัดสินใจซื้อ รวมทั้ง เป็นข้อมูลในการตรวจสอบหรือร้องเรียนในกรณีที่สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานตามที่ระบุไว้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

ด้านการก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบฯ แห่งแรกในอาเซียน ได้เปิดให้บริการทดสอบเสียงจากยางล้อที่สัมผัสผิวถนน และการยึดเกาะถนนบนพื้นเปียก แล้วเมื่อ15 ตุลาคม 2562 สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างสนามทดสอบ 4 สนาม ได้แก่ สนามทดสอบระบบเบรก สนามทดสอบระบบเบรกมือ สนามทดสอบพลวัต และสนามทดสอบการยึดเกาะขณะเข้าโค้ง มูลค่ากว่า 347 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2564 นอกจากนี้ ยังได้จัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ ชุดเครื่องมือทดสอบแบตเตอร์รี่รถยนต์ไฟฟ้า และชุดเครื่องมือทดสอบแบตเตอร์รี่รถจักรยานยนต์ มูลค่ากว่า 285 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2564

สำหรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ปีนี้ สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานจำนวน 51 มาตรฐาน ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือผลิตภัณฑ์ OTOP ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ อาหาร 15 มาตรฐาน สมุนไพร 16 มาตรฐาน เครื่องดื่ม 15 มาตรฐาน ผ้าและเครื่องแต่งกาย 1 มาตรฐาน และของใช้ ของประดับตกแต่ง และของที่ระลึก 4 มาตรฐาน รวมมาตรฐานทั้งหมดที่ได้ประกาศแล้ว จำนวน 1,581 มาตรฐาน และได้แก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้สอดคล้องตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีคุณสมบัติสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 รวมทั้ง ประกาศใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนหน้ากากผ้า มผช. 1555/2563 เพื่อให้ผู้ผลิตชุมชนนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมีความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “สมอ. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินงานด้านการมาตรฐาน เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ดีมีคุณภาพได้มาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพ และมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในตลาดโลกอย่างยั่งยืน”