เขตเศรษฐกิจพิเศษ, กระทรวงอุตสาหกรรม, เศรษฐกิจชุมชน, ลงทุน

ก.อุต เตรียมพร้อมดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน พร้อมตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

อัปเดตล่าสุด 1 ก.ค. 2563
  • Share :
  • 518 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมพร้อมรับลูกผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายหลังมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ มุ่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน พร้อมตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนด้านการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยกระทรวงอุตสาหกรรมมีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะร่วมสานต่อภารกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การพัฒนาเชิงพื้นที่ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยประสบผลสำเร็จ พร้อมตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น นักลงทุนต่างประเทศ/ในประเทศใช้ไทยเป็น Hub ของอาเซียน (Connectivity) ตลอดจนมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ต่อไป

โดยร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้จะเป็นกลไกในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ในการบริหารจัดการ กำกับติดตาม และสนับสนุนการดำเนินงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่ง และพื้นที่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม ได้แก่ พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA) พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor: NeEC - Bioeconomy) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคกลาง - ตะวันตก (Western - Central Economic Corridor: WCEC) เป็นต้น

ก้าวต่อไปของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ จะเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและพร้อมรองรับนักลงทุนที่สนใจเข้าไปลงทุน เช่น นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว นิคมอุตสาหกรรมสงขลา (สะเดา) จังหวัดสงขลา และนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมยางพารา จังหวัดสงขลา นับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการรองรับผลผลิตยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ โดยคาดว่าเมื่อมีการใช้พื้นที่เต็มประสิทธิภาพแล้วจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 7,000 อัตรา และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้กำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการขาย/เช่าที่ดินของนิคมอุตสาหกรรมยางพารา เช่น มาตรการส่งเสริมการขาย จะได้รับส่วนลดร้อยละ 5 ของอัตราราคาขายที่ดิน ยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในปีแรก นับจากวันที่ทำสัญญาจะซื้อจะขาย/สัญญาซื้อขายที่ดิน และสามารถแบ่งชำระการซื้อที่ดินในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินได้ภายใน 6 เดือน โดยไม่มีดอกเบี้ย แต่ต้องยื่นขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อประกอบกิจการต่อ กนอ. ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โอนที่ดินภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และแจ้งเริ่มประกอบกิจการภายในระยะเวลา 2 ปี  มาตรการส่งเสริมการเช่าที่ดิน ซึ่งจะได้รับยกเว้นค่าเช่าที่ดินในปีแรก นับจากวันที่ทำสัญญาเช่าที่ดิน และยกเว้นค่าบริการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในปีแรก นับจากวันที่ทำสัญญาเช่าที่ดิน โดยผู้ที่ได้รับสิทธิดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย (Downstream Rubber Industry) และผู้ใช้ที่ดินเพื่อประกอบอุตสาหกรรมยางพาราขั้นกลาง (Midstream Rubber Industry) ทำสัญญาเช่าที่ดินภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 และมีระยะเวลาการเช่าไม่น้อยกว่า 20 ปี เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่กระทรวง ฯ ได้ดำเนินการ นั้น จะมีส่วนช่วยให้การพัฒนาเชิงพื้นที่ตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม อันจะส่งผลในเชิงบวกต่อภาคเศรษฐกิจไทย ทั้งในระดับอุตสาหกรรม ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ รวมทั้งมีเม็ดเงินลงทุนหมุนเวียนในพื้นที่ (Circulation) เพิ่มขึ้น มีการพึ่งพากันในพื้นที่ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับความเป็นอยู่/คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังจะก่อให้เกิดการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพในแต่ละพื้นที่ มีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น นักลงทุนต่างประเทศ/ในประเทศใช้ไทยเป็น Hub ของอาเซียน (Connectivity) ตลอดจนมีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำและก่อให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ต่อไป นายสุริยะ กล่าวปิดท้าย 

อ่านเพิ่มเติม: