ไร้แผนล้างฝุ่นพิษถล่มกรุง ต้นตอปิกอัพ2ล้านคัน-บีบธุรกิจแก้
ฝุ่นพิษถล่มกรุงบานปลาย “บิ๊กตู่” นั่งไม่ติด ระดมทุกหน่วยงานแก้ปัญหาด่วน เสนอแผน 2 แนวทางระยะสั้น-ยาว ตรวจจับรถปิกอัพ 2.6 ล้านคันปมปัญหาควันดำ เร่งมาตรฐานน้ำมัน EURO 5 ซุกปัญหาไว้ใต้ฝุ่น เพิ่มภาระผู้ประกอบการ-ประชาชนแบกรับ “ค่าต้นทุนขจัดฝุ่น” นักธุรกิจวอนรัฐจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน ก่อนผลกระทบทำลายเศรษฐกิจ
ฝุ่นพิษ : ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐานที่ปกคลุมกรุงเทพฯและปริมณฑลอยู่ในขณะนี้มีแหล่งกำเนิดจาก กิจกรรมการขนส่งทางถนน (road transport) ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จำนวน 7.73 กิโลตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 54.3
ปิกอัพตัวการผลิตฝุ่น PM 2.5
รายงานข่าวจากที่ประชุมหน่วยงานภาครัฐแก้ปัญหาวิกฤตหมอกควันพิษระบุว่า รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจัดเป็นตัวการใหญ่ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน โดยรถยนต์ที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก (รถปิกอัพ) ก่อให้เกิดฝุ่นจำนวน 2.78 กิโลตัน คิดเป็นร้อยละ 36 ของการระบายฝุ่น PM 2.5 ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ รถบรรทุกขนาดใหญ่ ก่อให้เกิดฝุ่น 2.48 กิโลตันคิดเป็นร้อยละ 32 และรถบัสขนาดใหญ่จำนวน 1.38 กิโลตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 17.9
สอดคล้องกับตัวเลขการจดทะเบียนรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบก ณ เดือนตุลาคม 2561 ปรากฏมีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในประเทศทั้งหมด 2,632,239 คัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จำนวน 1,010,397 คัน,
รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน 170,488 คัน, รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถปิกอัพ) 1,227,585 คัน, รถโดยสาร 25,315 คัน, รถบรรทุก 97,480 คัน, รถแทรกเตอร์ 96,230 คัน, รถบดถนน 3,944 คัน และรถประเภทอื่นอีก 1,983 คัน
ด้านกรมควบคุมมลพิษได้กำหนดระดับสีการแจ้งเตือนความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเกิดสถานการณ์ เพื่อใช้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามความรุนแรงคือ ค่าสีเหลือง หมายถึง สถานการณ์ปานกลาง ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ในช่วง 38-50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ยังสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ค่าสีส้ม สถานการณ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่า PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ในช่วง 51-80 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้งหรือลดกิจกรรมภายนอกอาคารลง และค่าสีแดง สถานการณ์อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงมีค่ามากกว่า 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ต้องงดกิจกรรมการออกกำลังกายกลางแจ้งและกิจกรรมภายนอกอาคาร
ล่าสุด ณ วันที่ 15 มกราคม 2562 กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจพบฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ตรวจพบค่าระหว่าง 41-75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ค่าสีส้ม) เกินมาตรฐานบริเวณริมถนนกาญจนาภิเษก (บางขุนเทียน)-พระราม 4-อินทรพิทักษ์ (ธนบุรี)-ริมถนนลาดพร้าว (วังทองหลาง)-ถนนดินแดง-พระประแดง-อ้อมน้อย-บางกรวย และนครปฐม
เข้มงวดรถควันดำ
กรุงเทพมหานครร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดประชุมแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนและระยะยาว โดยมาตรการเร่งด่วน กทม.จะแจกจ่ายหน้ากากอนามัย N95 และจะล้างทำความสะอาดถนนใน กทม.ทุกจุด รวมถึงประสานกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และกรมการขนส่งทางบกตั้งจุดตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำเพิ่มหรือคุมการใช้รถมีอายุเกิน 7 ปี หากพบว่า มีควันดำเกินค่าจะพักการใช้รถ 1 เดือน ให้นำรถไปเปลี่ยนคุณภาพใหม่
“ฝุ่นละออง PM 2.5 กว่า 60% เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถที่มีสภาพเก่า มีควันดำ ส่วนรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้ห้ามนำเข้ามาในพื้นที่ กทม.ชั้นในเวลา 05.00-09.00 น. และ 15.00-21.00 น.แล้ว โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ใน กทม.ทั้งรถไฟฟ้าและอาคารให้หาสิ่งปิดคลุมป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจายและผมยังประสานผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร ห้ามประชาชนเผาสิ่งของในที่โล่งแจ้งเป็นเวลา 2 เดือน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์นี้” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว
ด้านมาตรการระยะยาว กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จะหารือร่วมกับ กระทรวงพลังงาน และผู้ประกอบการรถยนต์ภายในประเทศปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานเครื่องยนต์ใหม่และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้สูงขึ้น ส่งเสริมให้ใช้น้ำมัน B20 แทนน้ำมันดีเซล ส่วนผู้ประกอบการรถยนต์จะผลิตรถ EV และไฮบริดมากขึ้น
ซุกปัญหาไว้ใต้ฝุ่น
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองอยู่ในขณะนี้ได้แบ่งเป็น 2 แนวทางคือ
1) แนวทางการดำเนินการด้านคมนาคมระยะสั้นและระยะยาวตามค่าสีการแจ้งเตือน (สีเหลือง-ส้ม-แดง) ของกรมควบคุมมลพิษ ในระยะสั้นจะเน้นไปที่การตรวจสอบบำรุงรักษารถให้อยู่ในสภาพดี การตรวจจับควันดำ การปรับหรือชะลอแผนการก่อสร้าง การงดใช้รถยนต์ดีเซลของหน่วยงานราชการ ไปจนกระทั้งถึงการลดจำนวนรถยนต์ในเขตเมือง (carpool) ส่วนแผนระยะยาวจะส่งเสริมให้เกิดโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงระบบราง การใช้รถโดยสารที่ใช้ก๊าซ NGV รถไฟฟ้า/ไฮบริด การจัดหาจุดจอดแล้วจร
2) แนวทางการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงและรถยนต์ใหม่ ด้วยการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมัน EURO 5-6 เพื่อลดค่ากำมะถันให้เหลือไม่เกิน 10 ppm จากปัจุบันอยู่ที่มาตรฐาน EURO 4 ให้เร็วขึ้นตามแผนเดิมในวันที่ 1 มกราคม 2566 สำหรับ EURO 5 และ 1 กรกฎาคม 2572 สำหรับ EURO 6 เพื่อควบคุม
การระบายฝุ่นจากรถยนต์
“แนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองยังมีข้อจำกัดจากการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ ควันดำ มีหลายหน่วยงานทั้งตำรวจและกรมการขนส่ง-กรมควบคุมมลพิษ ในลักษณะต่างคนต่างจับ ใช้กฎหมายคนละฉบับ ส่วนการชะลอ/งดการก่อสร้างก็จะก่อให้เกิดความเสียหายกับเจ้าของโครงการ เรื่องการห้ามใช้รถเครื่องยนต์ดีเซลของหน่วยราชการหรือใช้ระบบ carpool จะกระทบกับประชาชนจำนวนมากและไม่รู้ว่าจะทำได้จริงหรือเปล่า การรณรงค์ให้ใช้ก๊าซ NGV-น้ำมันไบโอดีเซล-B20 ทุกวันนี้รับยังอุดหนุนราคาน้ำมัน-ก๊าซเหล่านี้ผ่านทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่
ส่วนการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมัน EURO 5 ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะโรงกลั่นน้ำมันต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าโรงละ 14,000-20,000 ล้านบาท รวมทุกโรงกลั่นเกือบ 100,000 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนนี้จะถูกบวกเข้ามาให้ราคาน้ำมันดีเซล EURO 5 ให้ผู้บริโภครับภาระอีกไม่น้อยกว่าลิตรละ 20 สตางค์ เรื่องเหล่านี้ล้วนอยู่เบื้องหลังแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่หน่วยงานราชการไม่ยอมพูดถึง” แหล่งข่าวในวงการพลังงานกล่าว
เลื่อน EURO 5 ให้เร็วขึ้น
นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของรถยนต์ดีเซล 50-60% โดยในกรุงเทพฯมีจำนวนรถดีเซลมากถึง 2.5 ล้านคัน จากรถทั้งหมด 9.8 ล้านคัน ซึ่งจากการตรวจสอบควันดำรถยนต์ดีเซล 50,000 คัน โดย บก.จร. พบ “มีรถไม่ผ่านมาตรฐาน 20%” จึงได้ให้มีการปรับปรุงเครื่องยนต์และหยุดวิ่ง
ส่วนมาตรการระยะยาวเห็นว่า ควรเลื่อนการประกาศใช้โรดแมปมาตรฐานเครื่องยนต์ EURO 5 ให้เร็วขึ้นจากเดิมกำหนดว่า จะใช้ในปี 2566 เป็น 2564-2565 ได้หรือไม่ ซึ่งหากจะเลื่อนต้องเตรียมความพร้อมทั้งส่วนของผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตเชื้อเพลิง โดยได้ประสานกับกระทรวงพลังงานแล้ว พร้อมทั้งขอให้เพิ่มการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ทดแทนการใช้ดีเซล ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการใช้ประมาณ 4 ล้านลิตร
สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน อาทิห้ามรถบรรทุกเข้าในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในตามช่วงเวลาโดยอาศัย พ.ร.บ.ขนส่งฯ การเร่งผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าให้คืนพื้นผิวจราจร เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัดซึ่งเป็นสาเหตุการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ และเพิ่มการฉีดน้ำลดฝุ่นควัน
ด้าน นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางรถบรรทุกแห่งอาเซียน กล่าวถึงมาตรการคุมเข้มรถบรรทุกอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลว่า ขณะนี้มีแค่ 0.005% เป็นรถบรรทุกที่เข้ามาในพื้นที่ก่อสร้างย่านสุขุมวิท-ถนนเพชรบุรีเท่านั้น ส่วนการบังคับใช้มาตรฐาน EURO 5 กับรถบรรทุกนั้น ถือว่า “เกินความจำเป็นและเป็นการเพิ่มต้นทุนผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 20%” เพราะรถยนต์ที่จะใช้มาตรฐานดังกล่าวมีราคาสูงกว่าปกติอีก 600,000 บาท/คัน เพราะน้ำมัน EURO 5 จะต้องจำหน่ายในราคาสูงขึ้น
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม ปรากฏ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งตั้งคณะทำงานวางแผนติดตามจัดการมลพิษฝุ่นละอองจากโรงงานแล้ว โดยจะคุมเข้มโรงงานที่มีกระบวนการผลิตที่ก่อให้เกิดฝุ่นในปริมาณมาก เช่น โรงโม่หิน โรงงานผลิตแอสฟัลติก โรงงานผลิตคอนกรีตสำเร็จรูปเพื่อการก่อสร้าง และโรงงานที่มีความเสี่ยงปล่อยฝุ่นละออง เช่น โรงงานที่มีหม้อไอน้ำโดยใช้เชื้อเพลิงแข็งเป็นเชื้อเพลิง ส่วนกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้สั่งการให้อุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัด ตรวจสอบเข้มงวดทุกโรงงานที่มีการปล่อยฝุ่นละออง รวมไปถึงรณรงค์ไม่ให้ชาวไร่อ้อยทำการเผาไร่อ้อยก่อนตัดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลด้วย
ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้รองนายกรัฐมนตรีประชุมบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมาด้วย
สทท.แนะรัฐเร่งจัดการปัญหา
นายสุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจและเฝ้าระวังผลกระทบกันอย่างเคร่งครัด เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่ประเทศจีน และส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจีนมาแล้ว “ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯขณะนี้ ตอนนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว แต่หากภาครัฐไม่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี และสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยได้ในระยะยาวมีผลกระทบแน่นอน” นายสุรวัชกล่าว
สอดรับกับแหล่งข่าวในธุรกิจท่องเที่ยวอีกรายหนึ่งระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาบริหารจัดการให้ดี ไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ กระทั่งทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่กล้าที่จะเดินทางเข้ามา เพราะตอนนี้ไทยเพิ่งเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับคืนมาได้ระดับหนึ่ง และกำลังจะเริ่มเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของตลาดจีน คือ ช่วงตรุษจีน จึงอยากให้รัฐออกมาแอ็กชั่นและบริหารจัดการปัญหานี้โดยเร็ว
นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวขณะนี้ยังไม่มีกระแสเกี่ยวกับความกังวลของนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละอองที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่ผู้ประกอบการก็อยู่ในช่วงเฝ้าระวังการประกาศเตือนจากประเทศต่าง ๆ และคอมเมนต์จากนักท่องเที่ยวเช่นกัน
ฝุ่น PM 2.5 ท่วมหน้าพระลาน
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาถึง 10 อันดับพื้นที่ทั่วประเทศที่มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) สูงสุด จากฐานข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 15 มกราคม 2562 ปรากฏมีค่าสีแดง (PM 2.5 มีค่ามากกว่า 80 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) อยู่ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี (230 ไมโครกรัม), ค่าสีส้ม (51-90 ไมโครกรัม) ที่ อ.อรัญประเทศ-กระทุ่มแบน-อ.เมืองราชบุรี-อ.เมืองกาญจนบุรี-อ.เมืองพระนครศรีอยุธยา โดย นายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ เกิดจากการระเบิดหิน รวมไปถึงการขนหิน ดิน และทรายของรถบรรทุกที่วิ่งผ่าน ทางจังหวัดได้กวดขันเรื่องของการจัดรถฉีดน้ำใส่ถนน-ผ้าใบคลุมรถบรรทุกเพื่อลดการเพิ่มฝุ่นละอองแล้ว
ด้านจังหวัดเชียงใหม่ นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้เตรียมบูรณาการ 4 จังหวัด(เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง-แม่ฮ่องสอน)บริหารจัดการปัญหาหมอกควันจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งเกิดขึ้นทุกปีในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2562
แห่ซื้อหน้ากาก-เครื่องฟอก
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจตลาดพบว่า ขณะนี้หน้ากากอนามัยชนิดพิเศษที่ป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 เป็นที่ต้องการมากทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาดในหลายพื้นที่ โดยในช่วงต้นสัปดาห์ผู้ประกอบการทั้งร้านสะดวกซื้อ-ร้านค้าปลีก-ร้านขายยา ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ทยอยนำสินค้าออกมาจำหน่ายหลากหลายแบรนด์และอีกสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกันคือ เครื่องฟอกอากาศ แต่เนื่องจากราคาต่อชิ้นค่อนข้างสูง และมีผู้ทำตลาดหลายแบรนด์จึงไม่พบว่ามีการขาดตลาดแต่อย่างใด
ผลกระทบเศรษฐกิจ 6.6 พันล้าน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯและปริมณฑลเบื้องต้นคาดว่า จะมีอย่างน้อย 2,600-6,600 ล้านบาทแบ่งเป็น 2 ส่วนแบ่งเป็น
1)ค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพจากที่สถานการณ์ฝุ่นละอองไปกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วยสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ จนต้องไปพบแพทย์ รวมไปถึงเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ โดยประเมินค่าเสียโอกาสจากประเด็นนี้ราว 1,600-3,100 ล้านบาท
2) ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจุดหมายปลายทางจากเดิมที่จะเดินทางมายังกรุงเทพไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่น กรณีนี้จะไม่ส่งผลกระทบในภาพรวมของประเทศ แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายในเวลาอันรวดเร็ว อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนเส้นทางไปประเทศอื่น ซึ่งกรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย ล่าสุดสื่อต่างประเทศก็ระบว่ากรุงเทพติดอันดับ 1 ใน 10 ของเมืองที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานโลกโดยค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่กรุงเทพอยู่ที่ 1,000-3,500 ล้านบาท