สศอ. เร่งผลักดัน การผลิตด้วยเครื่องจักรกลอัตโนมัติในพื้นที่อีสานใต้

อัปเดตล่าสุด 4 ส.ค. 2561
  • Share :

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมจะยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้เครื่องจักรกล และระบบการผลิตสมัยใหม่ในพื้นที่อีสานตอนล่าง 2 : อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ และศรีษะเกษ โดยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมในพื้นที่ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและระบบการผลิต ยกระดับศักยภาพการผลิตของผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขึ้นในพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากร (HRD Hub) ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และยกระดับเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมในพื้นที่ ด้วยความร่วมมือของกระทรวงอุตสาหกรรม โดย Center of Robotics Excellent (CoRE) และ Industrial Transformation Center (ITC) และหน่วยงานต่าง ๆ ของกลุ่มจังหวัด อาทิ Science Park มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่

ดร.ณัฐพล  รังสิตพล  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า “สำหรับการยกระดับศักยภาพการผลิตของโรงงานในพื้นที่นั้น CoRE และ ITC เข้าไปให้ความรู้ในการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติกับสถานประกอบการ และกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยน รวมทั้ง จัดทำต้นแบบที่เหมาะเพื่อให้อุตสาหกรรมในพื้นที่กว่า 2,200 ราย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร  แปรรูป อาหาร และ Bio-industry สามารถนำไปขยายผล รวมทั้ง สร้างระบบจำลองการผลิตแบบอัตโนมัติไปวางในพื้นที่ Science Park และ ITC เพื่อเป็นต้นแบบการเรียนรู้ ตลอดจน การเข้าไปให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่ละสถานประกอบการ โดย CoRE ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชนีจะเป็นหน่วยงานหลักด้านวิชาการ โดยความร่วมมือกับศูนย์ ICT และภาคเอกชนในพื้นที่

ในส่วนการยกระดับผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัตินั้น CoRE จะเข้าไปเสริมเทคโนโลยีด้านการออกแบบเครื่องจักร และระบบโปรแกรมควบคุมระบบอัตโนมัติที่ทันสมัยให้กับผู้ผลิตเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ  และเพิ่มขีดความสามารถของช่างเทคนิคและวิศวกรในพื้นที่ รวมทั้ง เร่งพัฒนา System Integrators (SI) รองรับงานประกอบติดตั้งเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติที่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต ในขณะที่ สมอ. จะช่วยยกระดับมาตรฐานของเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติเข้าสู่สากล

ในขณะที่ การจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินั้น จากการลงพื้นที่พบว่าจังหวัดอุบลราชธานี มีความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้และเป็น HRD Hub ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยมีโครงสร้างพื้นฐานของ Science Park รองรับ และมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งสนับสนุนด้านวิชาการและการผลิตบุคลากร รวมทั้ง มีผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนงานฝึกปฏิบัติได้ โดยผู้ผลิตหุ่นยนต์พร้อมจะสนับสนุนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนและการฝึกอบรม และนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติดังกล่าวไปสาธิตในศูนย์ CoRE และ ITC ด้วย”