ขนส่ง 4.0 แค่ "สมาร์ท" ไม่พอ เชื่อมโยงทุกสิ่งด้วย "ดิจิทัล เชื่อมโยงทุกสิ่งด้วย "ดิจิทัล"

อัปเดตล่าสุด 6 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 855 Reads   

อีกวงเสวนาที่น่าสนใจในงาน Asia IoT Business Platform (AIBP) ครั้งที่ 24 จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ถกกันด้วยเรื่องทิศทางและอนาคตของธุรกิจขนส่งในยุคไทยแลนด์ 4.0 ในหัวข้อ "Where is smart transport & Logistics heading for Thailand ?" ผ่านมุมมองและประสบการณ์ของผู้ที่อยู่ในวงการนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนดังนี้


ขนส่ง 4.0 แค่ "สมาร์ท" ไม่พอ

"ชยธรรม์ พรหมศร" รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กล่าวว่า อุตสาหกรรมขนส่งของไทยในปัจจุบันยังไม่สมาร์ทมาก ภาครัฐจึงมีความท้าทายสำคัญในการปรับเปลี่ยน (ทรานส์ฟอร์ม) แต่ไม่ใช่แค่ทำให้ "สมาร์ท" เท่านั้น ต้องไปถึงเรื่องความยั่งยืนด้วย เพราะไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาจึงต้องเน้นด้านโครงสร้างพื้นฐานให้ทันประเทศอื่น ปัจจุบัน 80% ของงบฯ ลงทุนใช้ที่โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะขนส่งทางราง และทางน้ำ เพราะต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งประเภทอื่น ๆ ดังนั้นความท้าทายคือทำอย่างไรจะรักษาสมดุลในการส่งเสริม เนื่องจากเอกชนไปเร็วกว่ามาก รวมถึงเรื่องกฎหมายที่ต้องดูแล
"การทรานส์ฟอร์มของรัฐเดินไปได้ไม่เร็วเท่าภาคเอกชน ขณะที่ภาพใหญ่ที่ต้องเดินไปพร้อม ๆ กัน อยากให้มีการแชร์ดาต้าร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน และใช้โครงสร้างพื้นฐานให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ตอนนี้รถไฟเราเป็นรางเดี่ยว 90% การจะทำให้รวดเร็วต้องมีรางคู่ เพื่อประหยัดทั้งงบฯ และเวลา อีกสิ่งที่พยายามตามให้ทัน คือ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ไม่ใช่แค่บริการดี แต่ต้องมีการทำงานแบบบูรณาการ"
อย่างไรก็ตาม การจะเปลี่ยนอุตสาหกรรมเป็นสมาร์ททรานสปอร์ต และสมาร์ทโลจิสติกส์ได้ จะต้องมีเป้าหมายชัดเจน และตามเทรนด์โลกให้ทัน เช่น สหรัฐมีแนวคิดเรื่องโดรนขนส่งเพื่อให้มีความรวดเร็ว ดังนั้น สิ่งที่ต้องคิดให้มาก คือ พื้นฐาน เช่น การให้บริการลูกค้า, ระยะเวลา, ค่าใช้จ่าย และต้นทุน การใช้เทคโนโลยีต้องนำมาเสริมหัวข้อเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งไปอย่างโดดเดียวไม่ได้ ต้องมีพาร์ตเนอร์


เชื่อมโยงทุกสิ่งด้วย "ดิจิทัล"

"ฐิติพงศ์ นันทาภิวัฒน์" กรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ท่าเรือหลักที่ทำงานรับส่งสินค้า คือท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งยังไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเต็มที่ จึงเกิดปัญหากับทุกฝ่าย เช่น ต้องรอ 7 ชั่วโมงกว่าจะเอาของลงท่าเรือได้ ดังนั้นจึงอาจต้องทำทุกอย่างเป็นดิจิทัลเพื่อให้เร็ว เช่น เอกสารอิเล็กทรอนิกส์, อีเพย์เมนต์ เป็นต้น รวมทั้งมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับส่วนอื่น ๆ เช่น รถไฟ, รถราง "สังคม โฆษิตวิวัฒน์" Regional IT Director เคอร์รี่ โลจิสติกส์ เสริมว่า ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาหลายอย่างเริ่มเชื่อมโยงกัน 
หลายธุรกิจเริ่มแชร์ข้อมูลกัน เช่น ทั้งผู้จ้าง ผู้ถูกจ้าง ตอนนี้กระทรวงคมนาคมมีกฎให้รถขนส่งต้องติดระบบจีพีเอส (GPS) ซึ่งเป็นเรื่องดี ทำให้สามารถต่อยอดบริการเป็นมัลติโมเดลทรานสปอร์ต คือ เชื่อมโยงการขนส่งทั้งหมด เพื่อลดต้นทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรผลักดันให้เกิด


"บุคลากร" ปัญหาใหญ่

ผู้บริหารเคอร์รี่กล่าวต่อว่า เรื่องบุคลากรยังปัญหาที่ผู้ประกอบการทุกคนต้องเจอ โดยเฉพาะการเปลี่ยนวัฒนธรรมไปสู่การทรานส์ฟอร์ม ซึ่งบุคลากรไอที, นักวิทยาศาสตร์ ข้อมูลหายากมาก ดังนั้น ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพราะเอกชนเองคงทำอะไรไม่ค่อยได้ อาจต้องเสริมตั้งแต่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งแนวทางการแก้ไขของภาคเอกชนที่เคยคิดไว้ คือ เทกโอเวอร์บริษัทไอที เพราะเร็วกว่าที่จะไปรอหาคนไอที
"เรามองว่าเทคโนโลยีจะยิ่งซับซ้อน ดังนั้นต้องพัฒนาคน เพราะมีช่องว่างทั้งเรื่องวัย และความรู้"


"ทรานส์ฟอร์ม" ไม่ใช่ทางเลือก 

"ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ในอดีตเราไม่เคยได้ยินคำว่า "ดิสรัปต์" จนเมื่อมีแอปพลิเคชั่น "แอร์บีเอ็นบี" หรือ "แกร็บ" จึงยากที่จะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเหมือนบริษัทสตาร์ตอัพได้ เพราะเริ่มต้นมาคนละแบบ ดังนั้นต้องเลือกทางที่ดีที่สุด โดยการเป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจอื่น ๆ หรือนำเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุน และแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดบริการที่ดี  อีกความท้าทายคือการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ในขณะที่โลกมีธุรกิจใหม่ ๆ 

"แอร์เอเชียมีเทคโนโลยีไอเอ,ไลฟ์แชต และแชตบอต รวมทั้งใช้ไอโอทีกับส่วนต่าง ๆ เพื่อดูการทำงานของอะไหล่หรือระบบเพื่อให้บริการดีที่สุด ในมุมเอกชนเราไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะเทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ จึงต้องทรานส์ฟอร์ม ตอนนี้ต้นทุนไม่ใช่ประเด็น เเต่เวลาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องทำตามภาครัฐ ถ้าไม่มีการสนับสนุนจากรัฐที่มากและรวดเร็ว ก็จะมีปัญหาตามมา"

ปัจจุบันแอร์เอเชียปรับระบบให้ทุกอย่างทำผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ดังนั้น ลูกค้าจึงสามารถเช็กอินได้จากที่บ้าน เป็นการนำ "ดิจิทัล" เข้ามาช่วยในการเช็กคนทุกขั้นตอน ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องทำกันต่อหน้า โดยเฉพาะในสิงคโปร์ ไม่จำเป็นต้องใช้คนเลย มีการใช้ระบบจดจำใบหน้า ไม่ต้องตรวจกระเป๋า แต่เชื่อมโยงข้อมูลอาชญากรรมกับหน่วยงานที่ดูแล ทำให้ทุกอย่างรวดเร็ว เป็นการรวมข้อมูลแบบบูรณาการ ทำให้เวลาในการรอขึ้นเครื่องใช้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง 

"แอร์เอเชียพร้อมแล้ว แต่ต้องรอภาครัฐเท่านั้น เราต้องการไปดิจิทัล ไม่ใช่แต่แค่ไม่ใช้กระดาษ แต่ต้องการให้ทำงานทุกอย่างผ่านมือถือได้ และไม่ใช่แค่ลูกค้า แต่รวมถึงการทำงานของพนักงานว่าเข้างานเท่าไหร่ ลากี่วัน ดูได้ผ่านแอปพลิเคชั่น รวมทั้งเก็บข้อมูลทุกอย่างว่ามี และแชร์อย่างเรียลไทม์"