อุตตมโชว์กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เชื่อมั่นดึงนักธุรกิจญี่ปุ่นลงทุนเพิ่มใน EEC

อัปเดตล่าสุด 23 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 406 Reads   

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง การขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ Thailand 4.0 และเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในงานสัมมนาการลงทุน “Thailand Taking off to New Heights” ซึ่งมีนักลงทุนผู้ประกอบการญี่ปุ่นเกือบ 800 ราย เข้าร่วมรับฟัง ณ เมืองนาโกยา จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น ว่า รัฐบาลไทยกำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 เพื่อการปฏิรูปประเทศ มีการกำหนดกลไกการขับเคลื่อนในด้านเศรษฐกิจ คือ 

  1. การยกระดับด้านโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ เพื่อกระจายความเจริญและการสร้างโอกาสให้ทั่วถึงในพื้นที่ต่าง ๆ 
  2. การปฏิรูปเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) เน้นเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 11 กลุ่ม 
  3. การพัฒนาคน ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 เร่งพัฒนาสมรรถนะเฉพาะด้านของเอสเอ็มอีและ Start Up ควบคู่กับการพัฒนาทักษะ
  4. โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ที่เป็นโครงการสำคัญที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาล

 

โดยโครงการอีอีซีเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย มีนวัตกรรมที่ก้าวหน้าที่สุดของไทย ซึ่งเชื่อมั่นว่า อีอีซีจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีบทบาทสำคัญและมีการเติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางของคาบสมุทรอินโดจีนและภูมิภาคอาเซียน และโครงการอีอีซีไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อประโยชน์ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) กลุ่มอาเซียน และกลุ่มประเทศแถบแปซิฟิก

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้จัดสิทธิประโยชน์พิเศษใหม่ๆ แก่นักธุรกิจที่ลงทุนในโครงการอีอีซี เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนการวิจัยพัฒนาร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยคาดว่าการลงทุนในพื้นที่อีอีซี จะสูงถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 5 ปี และขณะนี้ประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ และการออกมาตรการใหม่ ๆ เช่น การปรับปรุงกลไก ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนให้มีความคล่องตัวยิ่งขึ้น

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการหารือกับนักธุรกิจญี่ปุ่น เชื่อว่า ประเทศไทยจะได้ต้อนรับนักธุรกิจญี่ปุ่นรายใหม่ จากเดิมที่มีนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ประกอบธุรกิจในไทยประมาณ 7,000 ราย ให้เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นราย เนื่องประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศมีการลงทุนสูงที่สุดของไทย เป็นมิตรประเทศที่ดีของไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไทยกับญี่ปุ่นมีความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่มีผลบังคับใช้มาแล้วจนครบ 10 ปี ส่งผลให้ในปี 2560 ที่ผ่านมา ไทย-ญี่ปุ่นมีการค้าระหว่างกันถึง 54,350 ล้านเหรียญสหรัฐ และเพื่อให้ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่นในด้านอุตสาหกรรมเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่นภายใต้กรอบความร่วมมือพัฒนา Thailand 4.0 ด้วย จึงขอเชิญให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นใช้โอกาสที่ประเทศไทยกำลังสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับนักลงทุนไทยและญี่ปุ่นให้เต็มที่ในปัจจุบันนี้