สถาบันพลาสติกประกาศผลรางวัลออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกและคอมโพสิท
วันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ทางสถาบันพลาสติกได้มีการตัดสินการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกและคอมโพสิทภายใต้กิจกรรมพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกและคอมโพสิท เนื่องจากสถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจพัฒนาธุรกิจด้านสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ พลาสติกและคอมโพสิทด้มีโอกาสฝึกฝน ทักษะ และถ่ายทอดแนวคิดเชิงสร้างสรรค์มาใช้ในการพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ให้เข้ากับยุค Industry 4.0
นายภาณุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผย งานประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกนี้จะช่วยส่งเสริมผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งยังเปิดโอกาสที่จะเติบโตได้มากกว่าสมัยก่อน ผู้เข้าประกวดสามารถพัฒนาตัวเองจนกลายมาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้ ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเองก็จะช่วยในด้านสร้างโอกาส ให้ผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์ไปทดลองตลาดและสร้างมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ และยิ่งผลิตภัณฑ์มีความต้องการทางตลาดมากเท่าไรก็จะสามารถสร้างรายได้มากขึ้นเท่านั้น
“สำหรับงานนี้นะครับเราได้รับความสนใจมากทีเดียว เพราะหลังจากมีการเผยแพร่การแข่งขันนี้ขึ้นมาก็มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 400 ราย จากนั้นก็ทำการคัดเลือกมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเหลือ 40 ราย นี่นับว่าเป็นกระบวนการสร้างสตาร์ทอัพอย่างหนึ่งนะครับ เพราะด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทางกรมฯ ก็ได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มคนผู้มีความคิดสร้างสรรค์ให้สามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้จริงครับ
โดยการออกแบบผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมได้หลายแขนง ไม่ได้จำกัดอยู่ที่อุตสาหกรรมยานยนต์หรือครัวเรือนเท่านั้น”
นอกจากนี้ ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องไบโอพลาสติกและการลดใช้พลาสติก รวมถึงสถานการณ์ในการใช้คอมโพสิทว่า
“สำหรับเรื่องไบโอพลาสติกนะครับ ทางกรมฯ เองก็มีการทำเม็ดพลาสติกจากวัสดุทางการเกษตรด้วยนะครับ หากเรานำผลผลิตทางการเกษตรมาใช้เพื่อก่อประโยชน์ ผมว่าการทำเป็นเม็ดพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายเป็นเรื่องที่ดีทีเดียวครับ
ในเรื่องการลดใช้พลาสติก ตอนนี้เรารณรงค์ให้เหล่าผู้ผลิตขวดน้ำให้หยุดผลิตพลาสติกครอบฝาขวดน้ำครับ เพราะมันก็ไม่ได้ช่วยในเรื่องสาธารณสุขสักเท่าไรครับ นอกจากนี้ก็ยังมีการรณรงค์ให้ลดใช้ถุงพลาสติกครับ ให้ท่านนำถุงผ้ามาเอง ในอนาคตอาจจะต้องคิดเงินสำหรับค่าถุงพลาสติกด้วย
สำหรับสถานการณ์การใช้คอมโพสิทในตอนนี้ของประเทศไทยยังคงมีราคาสูง แต่หากมีคนหันมาใช้วัสดุคอมโพสิทเยอะ ๆ ก็น่าจะสามารถช่วยลดต้นทุนได้ครับ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นก็จะเน้นไปถึงการปรับปรุงขบวนการผลิต และวัตถุดิบใหม่ ๆ มาใช้แทนวัสดุเก่าเพื่อสร้างความแตกต่างครับ”
จะเห็นผลิตภัณฑ์พลาสติกและคอมโพสิทนั้นเรียกได้ว่าอยู่รอบ ๆ ตัวเรา เพราะพลาสติกเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในงานประกวดนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกและคอมโพสิทต่างออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์แก่ผู้บริโภคได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
มาทำความรู้จักกับผู้ชนะเลิศในสาขาออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก “คุณอนงค์ ศรีสุวรรณศร” โดยผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบคือไม้แขวนเสื้อที่สามารถปรับขนาดและพับเก็บได้
โดยคุณอนงค์กล่าวว่าแรงบันดาลใจในการออกแบบผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้มาจากการที่เห็นไม้แขวนผ้าไม่พอดีกับเสื้อ เลยคิดว่าทำไมจึงไม่มีไม้แขวนผ้าที่สามารถปรับระดับได้ที่สามารถพอดีกับเสื้อผ้าทุกขนาด ทั้งยังกล่าวว่าในการออกแบบผลงานชิ้นนี้ เรื่องของวัสดุที่ใช้กับการออกแบบดีไซน์เป็นเรื่องที่ยากมาก ส่วนในเรื่องที่จะใช้วัสดุคอมโพสิทกับงานตัวนี้ในรุ่นถัด ๆ ไปนั้นคุณอนงค์ก็บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ยังไม่แน่ใจนักเพราะสำหรับไม้แขวนผ้าแบบนี้ไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุคอมโพสิทที่มีความคงทนขนาดนั้น หากเปลี่ยนไปใช้วัสดุคอมโพสิทราคาของผลิตภัณฑ์อาจจะสูงขึ้นมาก
คุณอนงค์ยังได้กล่าทิ้งท้ายว่าในการแข่งขันครั้งหน้าอาจจะมุ่งไปยังผลิตภัณฑ์คอมโพสิทมากกว่าก็ได้ เพราะนอกจากโครงสร้างที่ทนทานและมีน้ำหนักเบากว่านั้น อาจสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้อีกด้วย
สำหรับผู้ชนะเลิศในสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์คอมโพสิทนั้นตกเป็นของ “คุณกฤช มะลิวงศ์” เจ้าของผลงานบ้านสุนัขที่ใช้วัตถุดิบเป็นคอมโพสิทในการออกแบบ
โดยคุณกฤชกล่าวว่านี่เป็นการประกวดแรกที่เข้าร่วมและการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศก็ทำให้รู้สึกประหลาดใจมากเพราะผู้เข้าร่วมแข่งขันแต่ละท่านก็เก่งและมีความคิดสร้างสรรค์กันทั้งนั้น แรงบันดาลใจในการทำผลงานชิ้นนี้คือความรักสุนัขของตัวเอง คุณกฤชกล่าวว่าเคยทำกรงสุนัขเองที่บ้านด้วยจึงอยากลองทำด้วยวัสดุคอมโพสิทดู ซึ่งมันดีกว่าวัสดุไม้หลายเท่า ทั้งทนแดด ทนลม ทนฝน ทนความชื้น ที่สำคัญคือสามารถออกแบบโดยไม่จำกัด และหากทำเพื่อวางจำหน่ายจริง ๆ บ้านสุนัขจากวัสดุคอมโพสิทนั้นสามารถทำออกมาได้ไวกว่างานไม้
ความยากของงานชิ้นนี้คือการทำตัวต้นแบบ คือต้องถอดชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาทำ ไม่สามารถทำเป็นชิ้นเดียวแล้วเสร็จได้เลย โดยระยะเวลาทั้งสิ้นที่ใช้ในการทำต้นแบบคือ 2 เดือนด้วยกัน
คุณกฤชกล่าวว่างานประกวดนี้เป็นงานที่ดีมาก และการอบรมก็เยี่ยมยอดมากเช่นกัน ในการอบรมทำให้เห็นว่าวัสดุเป็นสิ่งที่วิเศษมากขนาดไหน ซึ่งมันทำให้เกิดไอเดียต่าง ๆ มากมาย ในตอนนี้เราสร้างบ้านแมว บ้านสุนัข ในอนาคตมันก็จะสามารถสร้างเป็นบ้านคนได้เช่นกัน
คุณกฤชทิ้งท้ายว่าหากได้เข้าร่วมประกวดในครั้งหน้าก็คจะต้องวางแผนระยะยาวกันสักหน่อย โดยผลงานในการประกวดครั้งหน้าจะไม่ใช่บ้านสุนัขแน่นอน