ศูนย์บ่มเพาะฯ สวทช. หนุนผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี สร้างโอกาสพัฒนาธุรกิจ สู่เจ้าของธุรกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน

อัปเดตล่าสุด 16 ก.ค. 2561
  • Share :

นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. เปิดเผยว่า ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. ดำเนินโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (SUCCESS) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 โดย SUCCESS 2018 เป็นโครงการสำหรับผู้บริหารกิจการ ผู้ประกอบกิจการซอฟต์แวร์และไอทีทุกประเภท เช่น ERP, Mobile, Enterprise, Digital content, IT Consultant, IT Services, E-learning, Game, Web ฯลฯ และผู้ประกอบการนาโนเทคโนโลยี ไบโอเทคโนโลยี และอื่นๆ ที่ต้องการเตรียมสร้างรากฐานให้องค์กรธุรกิจพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และต้องการพันธมิตรเพื่อขยายโอกาสธุรกิจ ตลอดจนเรียนลัดจากประสบการณ์ของผู้ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจแล้ว โดยศูนย์บ่มเพาะฯ ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการ จนในที่สุดสามารถดำเนินกิจการได้อย่างประสบความสำเร็จ ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายตามความเหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดแนวคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีโอกาสนำผลงานสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมประสานแหล่งทุน และวางแผนธุรกิจที่นำไปใช้ได้จริง ทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจ ก่อเกิดรายได้ และนำไปสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจที่เข้มแข็งอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
“โครงการ Success 2018 เป็นการรวมกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีกว่า 40 ราย เพื่อเข้าบ่มเพาะธุรกิจ สร้างมิติใหม่การบ่มเพาะกลุ่มผู้ประกอบการใหม่และสตาร์ทอัพ โดยเน้นสร้างโอกาสธุรกิจและวางรากฐานให้ธุรกิจยั่งยืน และเพิ่มมิติด้านเงินทุนเพื่อโอกาสอยู่รอดมากขึ้นกว่าทุกปี ซึ่งปีนี้ได้เชื่อมต่อแหล่งเงินทุนจากหลายแห่งในหลากหลากรูปแบบมากที่สุดในประเทศ รวมถึงปีนี้มีผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพพร้อมระดมทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนเข้ามามากที่สุด คาดว่า จะสามารถสร้างยอดขายรวมได้มากกว่า 500 ล้านบาท มีส่วนการจ้างงานกว่า 600 อัตรา มีการลงทุนเพิ่มอีกกว่า 60 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังนำผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่มาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาผ่านประสบการณ์บริหารธุรกิจที่หลากหลาย พร้อมงบสนับสนุนกิจกรรมพิเศษ เช่น การเจรจาธุรกิจกับต่างประเทศ มากกว่า 600,000 บาท ให้ผู้ประกอบการคิดกิจกรรมที่ต้องการทำร่วมกันเป็นกลุ่ม”
 
ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. กล่าวต่อว่า จุดสำคัญของโครงการ Success 2018 อีกประการคือ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ (Community) ของบริษัทเทคโนโลยีรุ่นใหม่ที่ใหญ่ที่สุดและหลากหลายที่สุดในเมืองไทย โดยสมาชิกของกลุ่มจะสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่รวมตัวกันจัดตั้งโซลูชั่น ช่วยหาลูกค้าให้กัน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและทรัพยากรภายในเครือข่าย เพื่อพัฒนาสินค้าและงานของลูกค้าให้เสร็จทันเวลา ถือเป็นสังคมของการเกื้อกูลที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกันในอนาคต และเป็นการปิดช่องว่างข้อจำกัดของการเป็นบริษัทขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังขยายโอกาสไปที่ประเทศลาว และอินโดนีเซียด้วย ขณะที่พันธมิตรใหม่ของโครงการในปีนี้ได้แก่ 1) บริษัท ซัมซุง ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ประเทศไทย ได้สนับสนุนเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาโซลูชั่นร่วมกัน พร้อมเชื่อมต่อโอกาสทางธุรกิจกับลูกค้าของซัมซุงทั่วเอเชีย และจะมี Device Lab ไว้รองรับการทดสอบแอปพลิเคชันต่างๆ โดยเน้นเทคโนโลยี Knox (ความปลอดภัยบนสมาร์ทโฟน) ในการพัฒนา 2) Microsoft BizSpark ซึ่งจะมีชุดเครื่องมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ให้นักพัฒนาได้ใช้อย่างเต็มที่ 3) BuaLuang Ventures จะเตรียมเงินทุนเพื่อเปิดโอกาสในการร่วมทุนเพื่อรองรับการเติบโต และ 4) กลไกสนับสนุนภาคเอกชนต่างๆ ของ สวทช. เช่น โครงการ Startup Voucher ให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมการตลาดทุนละ 800,000 บาท โปรแกรม ITAP สนับสนุนทุนค่าจ้างที่ปรึกษาพัฒนากระบวนการผลิต และโครงการบัญชีนวัตกรรมไทย เพื่อเพิ่มโอกาสขายให้ภาครัฐ เป็นต้น
 
ตัวอย่างกลุ่มผู้ประกอบการ SUCCESS 2018 มีด้วยกันหลายราย และได้รับการจับตามองจากนักลงทุนหลายแหล่งทุน อาทิ Kids Up Smart School โดย บริษัท อาร์ติคูลัส จำกัด ซึ่ง Kids Up เป็นแอปพลิเคชันช่วยแก้ปัญหาจราจรในและหน้าโรงเรียน โดยผู้ปกครองจะเป็นผู้ใช้แอปทำงานกับระบบที่โรงเรียน ทำให้เวลาที่ผู้ปกครองไปรับนักเรียนจะไม่มีการจอดรถรอ / We Chef โดย บริษัท We Chef (Thailand) เป็นแพลตฟอร์ม Food Delivery service เปลี่ยนครัวที่บ้านให้เป็นงาน เปลี่ยนฝีมือทำอาหารให้เป็นเงิน เชื่อมผู้คนจากบ้านสู่บ้านด้วยอาหารที่ปรุงจากใจ / Bearcon School Bus ระบบดูแลความปลอดภัยและป้องกันเด็กถูกลืมไว้ในรถ / ทองหล่อ แพลตฟอร์มเรียกช่างตัดผม และแต่งหน้าไปบริการที่บ้าน โดย บริษัท คีย์ ทองหล่อ จำกัด เป็นแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันที่ใช้ค้นหาและจองช่างตัดผม ช่างแต่งหน้าคุณภาพ ไปให้บริการผู้ใช้ถึงบ้านหรือสถานที่ที่ต้องการรับบริการ / Smartcatalogue โดย บริษัท บุ๊กค์คาเซ่ จำกัด เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ SME สามารถสร้างแคตตาล็อกออนไลน์ได้ง่าย ลดขั้นตอนการจัดทำ สามารถนำขึ้นระบบเพื่อเผยแพร่โปรโมทการขายได้ทันทีผ่านออนไลน์ไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น / REFIT กายภาพบำบัดส่งตรงถึงคุณ เป็นตัวกลางในการจัดหานักกายภาพบำบัดให้กับผู้รับบริการ / golfdigg โดยบริษัท กอล์ฟดิกก์ จำกัด เป็นแพลตฟอร์สำหรับอุตสาหกรรมกอล์ฟ ประกอบด้วย ระบบการจองสนามกอล์ฟ ผ่านช่องทางแอปและเว็บไซต์ ระบบบริการจัดการสนามกอล์ฟ (Online ERP) ระบบการขาย package หรือ ticketing ที่จะโฟกัสสำหรับกลุ่มลูกค้านักกอล์ฟทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นต้น